เรื่องมันจบไปนานแล้ว… แต่น้ำตาเพิ่งมา
“Delayed grief ความเศร้าล่าช้า” เมื่อความเศร้าจู่โจมเราย้อนหลัง
“ไม่เศร้า ไม่รู้สึกอะไรเลย ทั้งที่คิดว่าตัวเองจะเศร้ามากกว่านี้”
ปกติเวลาเจอเรื่องเศร้า เราก็จะแสดงความเศร้าในรูปแบบต่างๆ เช่น ร้องไห้ เก็บตัว ไม่อยากพูดกับใคร นอนไม่หลับ ฯลฯ แต่สำหรับบางคนที่เมื่อเกิดเหตุการณ์น่าเศร้าขึ้น กลับไม่เศร้าโศก ร้องไห้เสียใจ กลับกันอาจมีท่าทีสนุกสนาน ยิ้มแย้มแจ่มใส ใช้ชีวิตตามปกติ จนคนรอบตัวพากันสงสัยว่า พวกเขาไม่รู้สึกเศร้ากับเหตุการณ์เหล่านี้เหรอ? ทำให้บางคนอาจถูกคนใกล้ตัวตำหนิที่พวกเขามีท่าทีเช่นนั้น โดยเฉพาะในเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น การสูญเสียบุคคลในครอบครัว
.
คนที่ไม่มีน้ำตา คนที่ยังยิ้มได้ ไม่ได้แปลว่าไม่เศร้านะ
พี่ๆ a-chieve ชวนน้องๆ มารู้จัก “Delayed grief” (ดีเลย์ กรีฟ) ความเศร้าล่าช้า ภาวะโศกเศร้าที่ไม่เกิดขึ้นในทันที แต่จะมาจู่โจมย้อนหลังเมื่อเหตุการณ์จบไปแล้ว ความเศร้าที่ล่าช้าเกิดจากสาเหตุอะไร แล้วเราจะรับมือกับความรู้สึกนี้ได้อย่างไร หยิบผ้าเช็ดหน้ามาซับน้ำตาแล้วอ่านบทความนี้ไปด้วยกันนะ
.
“Delayed grief” ความเศร้าล่าช้าคืออะไร?
ความเศร้าล่าช้า (Delayed grief) คือ อารมณ์เศร้าโศกที่เกิดขึ้นช้ากว่าปกติ คือ เมื่อมีเหตุการณ์ชวนเศร้าเกิดขึ้น เช่น การสูญเสียบุคคลในครอบครัว คนทั่วไปจะแสดงอาการโศกเศร้าในรูปแบบต่างๆ เช่น การร้องไห้ การต้องการพูดคุยระบายกับคนใกล้ชิด เกิดภาวะนอนไม่หลับ ไม่หิว แยกตัวออกจากคนอื่นๆ ฯลฯ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายในเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 2 - 4 เดือน (ส่วนคนที่โศกเศร้ายาวนานกว่านั้น หรือกินเวลานานนับปีและไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ก็อาจเข้าข่ายภาวะซึมเศร้า)
.
ส่วนคนที่ประสบกับความเศร้าล่าช้า จะไม่แสดงอาการเศร้าโศก หรือมีอาการเศร้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น พวกเขาอาจดูเหมือนคนที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติราวกับไม่มีเรื่องเศร้าเกิดขึ้น หลายคนคิดว่าคนเหล่านี้อาจจัดการความรู้สึกตัวเองได้ดี หรือชื่นชมว่า “เธอแข็งแกร่งจังเลย” แต่ความรู้สึกเศร้าที่ไม่ได้แสดงออกในตอนนี้ จะเกิดขึ้นกับพวกเขาในภายหลัง ทำให้รู้สึกเศร้า จมอยู่กับเรื่องในอดีต ร้องไห้ฟูมฟาย มีอาการเศร้าเหมือนกับคนอื่นๆ แต่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์นั้นจบลงไปแล้วเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี
.
ทำไมบางคนถึงไม่รู้สึกเศร้าตอนเกิดเรื่องทันที?
มีหลายเหตุผลที่ทำให้เราไม่รู้สึกเศร้าในทันที โดยส่วนใหญ่แล้ว “ความเศร้าล่าช้า” เกิดจาก
1. ไม่มีเวลาให้เศร้าโศกกับสิ่งที่เกิดขึ้น
เหตุการณ์สะเทือนใจบางเหตุการณ์ มาพร้อมกับสิ่งที่ต้องจัดการมากมาย เช่น การสูญเสียบุคคลในครอบครัว ซึ่งต้องตามมาด้วยการจัดพิธีกรรมทางศาสนา การดำเนินเรื่องทางกฎหมาย การดูแลใจคนใกล้ชิด ทำให้ไม่มีเวลาโศกเศร้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะรู้สึกว่าตัวเองกำลัง “ยุ่ง”
ถ้าให้ภาพชัดขึ้น ขอยกตัวอย่างเป็นช่วงเวลาที่เราทะเลาะกับเพื่อนหรือคนรัก แต่ต้องอ่านหนังสือสอบ ปั่นรายงาน หรือเป็นตัวแทนแข่งขันให้กับโรงเรียนในช่วงเวลานั้นๆ แม้เราจะเศร้าก็อาจต้องฮึบเอาไว้ก่อน ทำให้ความเศร้าถูกเลื่อนออกไปและย้อนกลับมาในช่วงเวลาที่เรามีเวลามากพอสำหรับทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น
.
2. ไม่กล้าแสดงความเศร้าให้คนรอบตัวเห็น
น้องๆ บางคนมีความเศร้าอยู่ในใจ ไม่อยากเปิดเผยหรือร้องไห้ให้ใครเห็นด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น กลัวคนรอบตัวเป็นห่วง ไม่อยากให้คนที่เรารักคิดมาก ไม่อยากให้อีกฝ่ายรู้สึกเสียใจไปด้วย กลัวถูกตัดสินว่าอ่อนแอ ไม่แข็งแกร่ง ฯลฯ ทำให้น้องๆ เลือกที่จะเก็บความเศร้าไว้แล้วระเบิดออกมาในภายหลังนั่นเอง
.
3. รู้สึกติดค้างกับใครบางคน
เมื่อมีสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียเกิดขึ้น โดยที่เรากับคนที่จากไปมีเรื่องติดค้างกันอยู่ เช่น เราอาจทะเลาะกับเพื่อนสนิทอย่างรุนแรงและยังไม่ทันปรับความเข้าใจ เพื่อนคนนั้นก็เสียชีวิตไปก่อน สิ่งนี้อาจทำให้เรารู้สึกมึนชา ช็อกแทนที่จะเศร้า ซึ่งต้องใช้เวลาสักระยะเพื่อทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น และทำให้ความเศร้าเกิดขึ้นตามมา
.
4. ถูกปฏิเสธความเศร้าบ่อยๆ
“อย่าร้องนะ เรื่องแค่นี้เอง” น้องๆ บางคนอาจเคยชินกับการถูกคนใกล้ตัวห้ามไม่ให้แสดงอาการโศกเศร้า หรือถูกตำหนิต่อว่าเมื่อแสดงความเศร้าออกมา ทำให้เมื่อมีเหตุการณ์สะเทือนใจเกิดขึ้น จึงเลือกที่จะเก็บความเศร้าไว้ในใจ ไม่กล้าแสดงความเศร้าและรู้สึกว่าการเศร้านั้นเป็นเรื่องที่ไม่ดี ไม่ควรเกิดขึ้น
.
5. เจอสิ่งกระตุ้นเตือนความทรงจำ
บางครั้งเรื่องในอดีตที่ผ่านไปแล้วก็ทำให้เรารู้สึกเศร้าได้ เพราะมีสิ่งกระตุ้นเตือนความทรงจำของเรา เช่น ได้ยินเพลงที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้นๆ ได้กลิ่นน้ำหอมของคนที่เคยจากไป พบเจอสิ่งของที่เชื่อมโยงกับความทรงจำในอดีตของเรา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้ความเศร้าที่เคยหายไปกลับมาได้อีกครั้ง
.
.
วิธีรับมือกับความเศร้าล่าช้า
ไม่มีคำว่าสายไปสำหรับความเศร้า หากความเศร้าจากอดีตมาเยือน ลองใช้แนวทางเหล่านี้ในการรับมือกับความเศร้าดูนะคะ 🙂
1. อนุญาตให้ตัวเองเสียใจ ไม่ฝืนความรู้สึก
เปิดใจยอมรับความเศร้าที่เกิดขึ้น รับรู้ว่าเรากำลังเผชิญกับความรู้สึกอะไร ไม่พยายามปฏิเสธหรือห้ามไม่ให้ตัวเองเศร้า แต่ขอให้คอยสังเกตว่าเรารู้สึกอย่างไร ร่างกายของเราเป็นอย่างไร
.
2. มองหาพื้นที่สนับสนุนความโศกเศร้า
ไม่เป็นไรเลยถ้าจะรู้สึกว่า เราต้องการใครสักคนเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความเศร้าที่เกิดขึ้น ให้น้องๆ มองหาคนที่เรารัก และไว้ใจเพื่อพูดคุย ระบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเรา
***อย่าลืมว่า ไม่ใช่ทุกคนที่เรารักจะเข้าใจเราอย่างทะลุปรุโปร่งเสมอไป แต่น้องๆ สามารถบอกความต้องการของตัวเองอย่างตรงไปตรงมาได้ เช่น ต้องการให้เขารับฟัง ให้ปลอบใจ ให้กอด หรืออยู่ข้างๆ ก็พอ
.
3. บันทึกทบทวนเกี่ยวกับความเศร้าที่เกิดขึ้น
หาพื้นที่สงบๆ เขียนบันทึกเกี่ยวกับความเศร้า หรืออาจใช้วิธีการวาดรูปสะท้อนความเศร้าที่อยู่ในใจก็ได้ การจดบันทึกจะทำให้เรามองเห็นสาเหตุที่ทำให้เราเศร้า สถานการณ์ความรู้สึกในใจเราตอนนี้ และน้องๆ อาจเขียนสิ่งที่จะช่วยฟื้นฟูตัวเองจากความเศร้าเพิ่มลงไป ก็จะช่วยให้เราเห็นวิธีการรับมือของตัวเองได้
📍 บทความแนะนำ
- ดูแลใจได้ง่ายๆ แค่เขียน Journal Writing วันละ 3 บรรทัด https://a-chieve.org/content/heal-your-heart/heal-your-heart-content-40
- แบบสำรวจอารมณ์ เช็กเฉดสีในใจ https://a-chieve.org/emotion-survey
.
4. พาตัวเองไปทำกิจกรรมที่ดีต่อร่างกายและจิตใจ
พี่ๆ a-chieve เข้าใจดีว่า มันไม่ง่ายเลยที่จะพาตัวเองไปทำกิจกรรมที่เราเคยชอบตอนกำลังเศร้า แต่ก็อยากให้น้องๆ ลองให้โอกาสพาตัวเองไปทำกิจกรรมนั้นๆ โดยอาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะช่วยเยียวยาจิตใจเราได้ เช่น สั่งเมนูโปรดให้ตัวเอง ให้เวลาตัวเองได้นอนขี้เกียจโดยกำหนดเวลา เช่น ฉันจะนอนเป็นเวลา 2 ชั่วโมงแล้วลุกไปเดินเล่น เล่นเกมที่ชอบ อ่านฟิคสักหน้า ลุกขึ้นไปอาบน้ำให้สบายตัว และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพอย่างการดื่มแอลกอฮอล์ หรือเผลอนอนไถฟีดจนเช้า
.
5. พบจิตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ
การเยียวยาความเศร้าต้องใช้เวลา หากความเศร้านั้นกินเวลานานเกินไปและกระทบการใช้ชีวิตประจำวันของเรา เช่น ไปโรงเรียนตามปกติไม่ได้ หรือนอนไม่หลับติดกันหลายสัปดาห์ การเข้าพบจิตแพทย์ก็เป็นอีกวิธีที่เราใช้ดูแลตัวเองได้นะ ลองปรึกษาคนที่เราไว้ใจเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการไปพบจิตแพทย์ จะได้มีวิธีดูแลความรู้สึกและสภาวะอารมณ์ของเราได้อย่างเหมาะสม
📍 บทความแนะนำ
- ไปหาจิตแพทย์ครั้งแรก… คุยอะไรดีนะ? https://a-chieve.org/content/heal-your-heart/heal-your-heart-content-39
- เข้าใจซึมเศร้าไปกับคุณคางคกใน “คุณคางคกไปพบนักจิตบำบัด” แนะนำหนังสือน่าอ่านสำหรับคนชอบจิตวิทยา https://a-chieve.org/content/heal-your-heart/heal-your-heart-content-63
.
.
เราไม่จำเป็นต้องกำจัดทุกความเศร้าให้หายไป
ความเศร้าเข้ามาทำให้เราได้ขยับขยายพื้นที่ของหัวใจเพื่อโอบรับด้านอื่นๆ ของชีวิต ด้านที่เรามีน้ำตา ด้านที่เราต้องการคนข้างๆ ด้านที่เรารู้สึกอ่อนแอ มันอาจเป็นด้านที่ไม่สวยงามและเราอาจไม่ชอบตัวเองในโหมดนี้นัก แต่ความเศร้าจะทำให้เราเห็นความรักชัดขึ้น โดยเฉพาะความรักที่เราจะมอบให้ตัวเองนะ 🙂
.
.
อ้างอิง
https://www.choosingtherapy.com/delayed-grief/
พีรพนธ์ ลือบุญธวัชชัย. (2550). อารมณ์โศกเศร้าจากการสูญเสียและจิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคล หลักการบำบัดและแนวทางการดูแล.วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย.(52)1 : 29-45