น้องๆ เคยเจอสถานการณ์แบบนี้ไหมคะ เวลาที่รวมกลุ่มกันไปอ่านหนังสือหรือติวข้อสอบกับเพื่อน พอเราจริงจังกับการติว เพื่อนก็ดันชินจังติดเล่นซะนี่ เดี๋ยวชวนไปกินของอร่อย เดี๋ยวชวนเล่นติ๊กต๊อก อ่านหนังสือได้แค่ 5 นาทีที่เหลือต้องคอยดึงเพื่อนให้มีใจกลับมาติวด้วยกัน หรือในบางครั้งก็เป็นเราเองนี่แหละที่เป็นฝ่ายชวนเพื่อนเล่นซะเอง ซึ่งไม่ว่าเราจะเป็นฝ่ายไหน ก็อาจรู้สึกอึดอัดใจ น้อยใจที่ต้องคอยบอกความต้องการของตัวเองกับเพื่อน หรืออาจรู้สึกเหนื่อยที่ต้องแบกการติวนี้ไว้คนเดียว
.
จะติวสอบหรือตีกันก่อนดี
เพราะความคาดหวังที่ไม่ตรงกันอาจนำมาซึ่งการขัดใจ ความหงุดหงิดขุ่นเคือง หรือทะเลาะเบาะแว้งจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตได้ “ฉันอยากจริงจัง แต่เพื่อนติดเล่น” “ฉันอยากพักบ้าง แต่เพื่อนซีเรียสเกินไป” “ไม่อยากรับบทคนสรุป แต่เพื่อนโยนหน้าที่ให้” และอีกปัญหาต่างๆ มากมาย ที่อาจทำให้เราผิดใจกับเพื่อน วันนี้พี่ๆ a-chieve เลยขอนำ “วิธีการติวสอบกับชาวแก๊งแบบไม่ให้ผิดใจกัน” มาฝาก ไว้เป็นแนวทางสำหรับน้องๆ ที่มีนัดจะรวมกลุ่มติวหนังสือกันในช่วงนี้ จะมีวิธีการใดบ้างนั้นเราไปดูกันเลย

1. จัดตารางเวลาด้วยกัน
หากเข้าใจตรงกันว่าจะมีการสอบเกิดขึ้นเมื่อไร จะทำให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้นว่าควรเริ่มติวช่วงไหน ที่ไม่กระชั้นชิดจนเครียดเกินไป หรือห่างนานจนลืม จากนั้นให้ทำตารางเวลาที่จะติวด้วยกัน โดยที่ทุกคนในกลุ่มมีส่วนร่วมในการเลือกเวลาที่เหมาะสมกับตัวเอง เช่น ช่วงเย็นหลังเลิกเรียน ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ฯลฯ
การร่วมกันจัดตารางจะทำให้เราได้เวลาที่ทุกคนสะดวกมาเจอกัน และได้ติวในบรรยากาศสบายๆ ไม่รีบร้อน หรือต้องไปจัดการธุระอื่นใดจนทำให้เสียสมาธิ
📗 Tips
- การจัดตารางเวลาจะต้องมีเวลาสำหรับการพักเพื่อผ่อนคลายลงไปด้วย และควรเป็นตารางที่ยืดหยุ่นได้ ไม่แน่นหรือหลวมจนเกินไป
- หากเป็นไปได้ ควรตรงต่อเวลาและไปตามนัด เพื่อไม่ให้เพื่อนรอนาน หรือต้องเริ่มทบทวนใหม่
- ควรอัปเดตเวลาให้กลุ่มรับรู้ว่าเหลือเวลาอีกกี่วันก่อนถึงวันสอบ เพื่อให้เห็นความสำคัญของการติวมากขึ้น
.
2. ช่วยกันแชร์ความคาดหวังของตัวเอง
พูดคุยกับเพื่อนแต่ละคนว่าอะไรคือสิ่งที่เขาต้องการในการมาติวครั้งนี้ แม้การสอบผ่านจะเป็นเป้าหมายที่ตรงกัน แต่เพื่อนแต่ละคนก็อาจมีความคาดหวังที่แตกต่างกันในรายละเอียด เช่น บางคนต้องการได้คะแนนสูงๆ บางคนขอแค่ผ่านแบบฉิวเฉียดก็พอแล้ว บางคนแค่อยากมาอยู่กับเพื่อนก็พอแล้ว เป็นต้น
การได้สื่อสารความต้องการของตัวเองและรับรู้ความตั้งใจของคนอื่น จะทำให้เราและเพื่อนพยายามที่จะรักษาเป้าหมายของแต่ละคน และปรับความคาดหวังที่มีกับคนอื่นได้ดีขึ้น เช่น เมื่อเรารู้ว่าเพื่อนบางแค่เหงา อยากมาอยู่ด้วยในวันหยุด เราก็ไม่จำเป็นที่จะคาดหวังให้เพื่อนตั้งใจอ่านหนังสือ เพราะเป้าหมายของเพื่อนอาจเป็นแค่การได้เห็นหน้าเพื่อนๆ นั่นเอง
📗 Tips
- เราสามารถบอกเพื่อนได้ หากความต้องการของเพื่อนส่งผลกระทบด้านลบกับการติว เช่น รบกวนสมาธิคนอื่น ทำให้เพื่อนคนอื่นรู้สึกหมดกำลังใจ เป็นต้น

3. สร้างกติการ่วมกัน
เมื่อรู้ความต้องการของแต่ละคนแล้ว ให้มาออกแบบกติกาในการติวร่วมกันเพื่อให้แต่ละคนบรรลุเป้าหมายของตัวเอง อาจเริ่มจากคำถามที่ว่า แต่ละคนอยากติวด้วยวิธีไหน จะแบ่งหน้าที่กันอย่างไร อะไรที่เราจะทำ อะไรที่เราจะไม่ทำ โดยกติกานั้นควรออกแบบและได้รับความยินยอมจากทุกคนร่วมกัน
📗 Tips
- กติการ่วมที่ใช้ได้ผล จะต้องมาจากการยอมรับและปฏิบัติร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ และมีการกลับไปทบทวนกติการ่วมกันทุกครั้งที่มีโอกาส และไม่ควรปล่อยผ่านการละเมิดกติกาเล็กๆ น้อยๆ
.
4. พักผ่อนอย่างมีเป้าหมาย
การพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในการติวสอบ หากเราเคร่งเครียดเกินไปก็จะยิ่งกดดันและนำไปสู่ความกังวล ซึ่งส่งผลไปถึงสุขภาพกายของเราด้วย น้องๆ อาจปวดท้องเพราะความเครียด นอนหลับยาก จนไม่มีแรงไปสอบในวันจริง เพราะฉะนั้นอย่าลืมพูดคุยกันว่า จะพักทุกๆ กี่นาที หรือทุกกี่ชั่วโมง
📗 Tips
- เราอาจตั้งเป้าหมายเป็นการให้รางวัลตัวเองหลังติวเสร็จ เช่น ไปกินชาบู ไปดูหนังด้วยกันหลังติวเสร็จแล้ว เป็นต้น

5. สำรวจอารมณ์ ความรู้สึกของกันและกัน
เราต่างเจอเรื่องราวที่แตกต่างกันในแต่ละวัน จึงจำเป็นที่จะต้องหมั่นคอยสำรวจความพร้อมของตัวเองและเพื่อนๆ ทั้งอารมณ์ ความรู้สึก ความพร้อม (ทั้งก่อนติวและระหว่างติว) การรับรู้อารมณ์ของเพื่อนจะทำให้เราเข้าใจความคิดและการกระทำของเพื่อนมากขึ้น เช่น เพื่อนที่เอาแต่กินเพราะกำลังเครียดมาก เพื่อนบางคนอยากเล่าปัญหาที่อยู่ในใจให้ฟังก่อน เพื่อนบางคนป่วย ไม่สบาย นอนไม่พอ ฯลฯ ลองหยิบเรื่องอารมณ์ความรู้สึกมาคุยกับเพื่อน และถามความต้องการ หรือสิ่งที่จะช่วยเหลือได้หากเพื่อนกำลังเจอความรู้สึกที่ยากลำบาก พร้อมกับให้กำลังใจกันและกันอยู่เสมอ
📗 Tips
- ตัวเราเองก็สามารถสื่อสารความรู้สึกของตัวเองออกไปได้เช่นกัน ไม่เป็นไรหากเราจะบอกว่าเราไม่พร้อม หรือเหนื่อยเกินไป โอบรับทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ แล้วลองดูว่าเราต้องการความช่วยเหลือจากเพื่อนอย่างไรบ้าง เช่น ขอออกไปพัก สลับตำแหน่งในการติว
.
6. ดูแลตัวเองด้วยนะ
การเป็นคนมีน้ำใจและเห็นอกเห็นใจนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเราดูแลและช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่ดูแลความต้องการของตนเอง ก็อาจส่งผลต่อจิตใจและการใช้ชีวิตของเราได้ เพราะฉะนั้น อย่าลืมใจดีกับตัวเองด้วยนะ เช่น ไม่เครียดจนเกินไป รับประทานของที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการอยู่กับตัวเองเงียบๆ คนเดียว เพื่อรวบรวมสมาธิ
📗 Tips
- การปฏิเสธคำขอจากเพื่อน หรือขอความช่วยเหลือจากเพื่อนคนอื่น เป็นสิ่งที่เราทำได้โดยโดยไม่ต้องรู้สึกผิด หากสุขภาพกายและใจของเราแข็งแรงดี เราก็จะซัพพอร์ตเพื่อนของเราได้ดีเช่นกัน
.
.
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นให้น้องๆ นำไปปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ของตัวเอง นอกจากการติวสอบแล้ว เรายังสามารถใช้แนวทางเหล่านี้ในโอกาสอื่นๆ ที่ต้องรวมตัวกับเพื่อนได้ด้วย เช่น นัดทำงานกลุ่ม ทำการบ้าน ซักซ้อมกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น
พี่ๆ a-chieve อยากบอกกับน้องๆ ทุกคนว่า การไม่เข้าใจกัน หรือมีความคาดหวังที่แตกต่างกันนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการอยู่ร่วมกัน เพราะเราทุกคนมีความแตกต่างหลากหลายกันในตัวเอง และยิ่งเป็นคนที่เราแคร์ ก็ยิ่งเพิ่มความคาดหวังและความรู้สึกต่างๆ ที่มากกว่าคนทั่วไป ขอแค่ได้สื่อสารและหาจุดตรงกลางระหว่างกัน เราอาจได้พบกับวิธีการอยู่ร่วมกันใหม่ๆ ที่อาจสนุก สร้างสรรค์ ท้าทาย แต่ทำให้เราเข้าใจกันมากกว่าเคยก็ได้นะ 🙂