รู้จักโรควิตกกังวล Anxiety Disorders

วันอังคารที่ 29 สิงหาคม 2566 เวลา 06:02 • ใช้เวลาอ่าน 1 นาที
ปก_1920x960.JPG

 

เมื่อความกังวลปกคลุมหัวใจ
รู้จักโรควิตกกังวล Anxiety Disorders

1_square.JPG


ความกังวล เป็นอารมณ์ปกติที่เกิดขึ้นได้กับเราทุกคน แม้มันจะสร้างความรู้สึกลบแต่รู้ไหมว่า จริงๆ แล้วความกังวล มีประโยชน์ต่อมนุษย์มาก เช่น เราอาจรู้สึกกลัว เครียด กังวล เมื่อต้องออกไปรายงานหน้าชั้นเรียน แต่ความวิตกกังวลนั้นก็กระตุ้นให้เราเตรียมตัวและฝึกฝนซ้ำๆ หรือการเดินข้ามถนนในสภาพจราจรคับคั่งที่ทำให้รู้สึกกังวล แต่ความกังวลก็ช่วยให้เราตื่นตัวและระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม ความกังวลโดยทั่วไปมักสามารถคลี่คลายได้โดยง่ายและใช้เวลาไม่ยาวนาน ในขณะที่การวิตกกังวลกับบางสิ่งจนกระทบกับชีวิตประจำวันอาจเป็นที่มาของโรควิตกกังวลหรือ Anxiety Disorders
.
ความกังวลเป็นโรคได้ 
โรควิตกกังวล (Anxiety Disorders) เป็นกลุ่มของอาการที่เกี่ยวข้องกับความกลัวและความวิตกกังวล มีหลายประเภทแตกต่างไปตามอาการ โดยโรควิตกกังวลทั้งหมดมักมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ การเกิดความกลัว หรือกังวลกับสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง ที่ไม่สามารถควบคุมให้สงบได้โดยง่าย 
โรควิตกกังวล มีสาเหตุมาจากหลายประการ ทั้งการถ่ายทอดทางพันธุกรรม การประสบกับเหตุการณ์ที่ตึงเครียดหรือกระทบกระเทือนจิตใจ เช่น การถูกล่วงละเมิด การเสียชีวิตของคนที่คุณรัก ความรุนแรงหรือการเจ็บป่วยที่ยืดเยื้อ สิ่งเหล่านี้มักเชื่อมโยงกับการเกิดโรควิตกกังวล

2_square.JPG


ประเภทของโรควิตกกังวล
โรควิตกกังวลมีหลายประเภท แต่ละประเภทมีอาการต่างกัน ต่อไปนี้คือ ประเภทของโรควิตกกังวลที่พบได้บ่อยที่สุด 
1. โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalised Anxiety Disorder, GAD) 
เป็นอาการวิตกกังวลในเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวันที่มากเกินปกติ หรือมีอาการกังวลโดยไม่มีสาเหตุเป็นระยะเวลายาวนาน ผู้ที่เป็นโรคนี้จะรู้สึกเหนื่อย หมดแรง และมีอาการปวดหัว ตึงเครียด หรือคลื่นไส้
2. โรควิตกกังวลทางสังคม (Social Anxiety Disorder)
โรคนี้ไม่ใช่เพียงแค่อาการเขินอายตอนต้องเข้าสังคม แต่จะเป็นรู้สึกกลัวและกังวลอย่างมากเมื่อต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้คน จนทำให้ตัวเองไม่กล้ามีส่วนร่วมในสังคม เช่น ไม่กล้าเข้าร่วมสนทนา แยกตัวออกจากสังคม เป็นต้น
3. โรคแพนิค (Panic Disorder)
โรคนี้จะมีอาการความรู้สึกตื่นตระหนก หวาดกลัวอย่างฉับพลัน บางครั้งไม่ทันสังเกตว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ทำให้เกิดอาการทางร่างกายอย่างรุนแรง จนมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโรคหัวใจวาย อาการทางกายภาพเมื่อเกิดอาการแพนิค ได้แก่ อาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น เวียนศีรษะ หายใจถี่ และปวดท้อง 
 

3_square.JPG

4. โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobia)
โดยปกติแล้วเราแต่ละคนอาจมีสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกกลัวหรือไม่สบายใจ ซึ่งก็จะมีวิธีรับมือที่ต่างกัน เช่น หลีกเลี่ยง ไม่พาตัวเองเข้าใกล้ความเสี่ยง หาตัวช่วย ฯลฯ แต่สำหรับบางคน อาการหวาดกลัว สถานที่ เหตุการณ์หรือสิ่งของบางอย่าง จะส่งผลให้มีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรงมาก จนทำให้ความพยายามที่จะควบคุมความกลัวของตัวเองกระทบกับชีวิตประจำวัน ซึ่งกลุ่มโรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจงก็มีชนิดแยกย่อยแตกต่างกันออกไปตามสิ่งที่กระตุ้นความกลัว เช่น โรคกลัวแมงมุม โรคกลัวที่แคบ โรคกลัวความมืด เป็นต้น
5. โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder) 
เป็นอาการทางจิตหลังประสบกับเหตุการณ์สะเทือนใจ เช่น สงคราม ภัยพิบัติ การถูกทำร้ายร่างกายและความรุนแรง ทำให้เกิดภาพจำซ้ำๆ และรู้สึกเหมือนกลับไปประสบเหตุการณ์นั้นอีกรอบ นำไปสู่ความเครียด ความกังวล อารมณ์ฉุนเฉียว เป็นต้น
.
นอกจาก 5 ประเภทของโรควิตกกังวลเบื้องต้นแล้ว ยังมีกลุ่มโรควิตกกังวลอื่น ๆ เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD), โรควิตกกังวลที่ต้องแยกจากกัน, โรควิตกกังวลที่เกิดจากสาร ยา เกี่ยวข้องกับการมึนเมาหรือการถอนตัวหรือการรักษาด้วยยา
 

4_square.JPG


เมื่อใดที่ความวิตกกังวลเป็นปัญหาสุขภาพจิต?
หากความกังวลที่มีส่งผลให้เกิดอาการทางกายและทางอารมณ์ในข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้อย่างรุนแรง ให้มองหาความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจและพาตัวเองไปพบจิตแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณอาการของโรควิตกกังวลได้  
.
อาการทางอารมณ์
  - มีความกลัวหรือกังวลอย่างรุนแรงและยาวนาน 
  - ไม่สามารถควบคุมความกลัวหรือความกังวลได้
  - หลีกเลี่ยง ไม่กล้าเผชิญหน้ากับสิ่งที่ทำให้รู้สึกกลัว
  - มีความรู้สึกกลัวและกังวลอยู่เป็นประจำ
  - ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตเพราะมีความกลัวและความกังวลอยู่ตลอดเวลา
  - หงุดหงิด และกระสับกระส่าย
อาการทางร่างกาย
  - รู้สึกว่าหัวใจเต้นแรงและหายใจถี่
  - เหงื่อออก ตัวสั่นและกระตุก
  - รู้สึกปวดหัว อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ
  - มีอาการปวดท้อง ถ่ายปัสสาวะบ่อยหรือท้องเสีย
.
.
อาการทางกายภาพของโรควิตกกังวลอาจคล้ายคลึงกับโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจหรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานหนัก ดังนั้น หากรู้สึกกังวลใจ การพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยจะช่วยให้เรารับมือกับอาการเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง สิ่งสำคัญคือ การหมั่นสำรวจตัวเองในเบื้องต้นเพื่อให้สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับแพทย์ได้ เพราะความเจ็บป่วยทางจิตใจ แม้มองไม่เห็นก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลนะ
.
.
แหล่งอ้างอิง 
Anxiety Disorders | NAMI: National Alliance on Mental Illness
Anxiety and panic attacks - Mind
 


 

 


avatar-ผู้เขียน
พัชรพร ศุภผล ผู้เขียน

ใช้แมวเป็นวิตามิน มีร้านหนังสือและแกลอรี่อาร์ตเป็นพื้นที่ปลอดภัย รักเจ้าชายน้อยและคิดว่าตัวเองก็คงมาจากดาวb612 เช่นกัน

avatar-นักออกแบบภาพ
สาธิดา ราหุละ นักออกแบบภาพ

ทาสแมวที่วาดรูปได้นิดหน่อย รื่นรมย์กับคราฟต์เบียร์ การเดินทาง และศิลปะ

Tag :