7 ประเภท “ซึมเศร้า” ที่อยากให้เราเข้าใจ

วันอังคารที่ 20 กันยายน 2565 เวลา 00:06 • ใช้เวลาอ่าน 2 นาที
1920x960_ปกเว็ป-4.JPG

 

เพราะความรู้สึกเศร้าอาจเป็นมากกว่าความรู้สึก มันอาจพัฒนาเป็นอาการหรือภาวะทางอารมณ์ที่เรียกกันว่า “โรคซึมเศร้า” 


 

ความเศร้าเหล่านี้อาจมีที่มาจากสถานการณ์ในชีวิต หรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในสมอง ภาวะซึมเศร้าจึงมีความซับซ้อนหลากหลาย ที่มากกว่าแค่ “รู้สึกเศร้า” พี่ a-chieve ชวนน้องๆ มาทำความรู้จักภาวะซึมเศร้าประเภทต่างๆ ที่เราหรือคนใกล้ตัวอาจมีโอกาสได้พบเจอสภาวะเหล่านี้ได้ เพื่อเป็นแนวทางในการสำรวจตัวเองและเตรียมความพร้อมที่จะพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง


 

1. โรคซึมเศร้า (Major Depression)

โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมอง และอาจมีที่มาจากปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาพแวดล้อมรอบตัว บุคลิกนิสัยส่วนตัว การประสบพบเจอกับเหตุการณ์สะเทือนใจ โดยปกติแล้วเราทุกคนสามารถพบเจอกับ “ภาวะซึมเศร้า” ได้ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการจัดการที่เหมาะสม และปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน อารมณ์เศร้า/ภาวะซึมเศร้า ที่สะสมอยู่ก็อาจนำไปสู่ โรคซึมเศร้าได้ในที่สุด 


 

ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า เบื้องต้นจะต้องมีความรู้สึกเศร้าอย่างต่อเนื่องหรือขาดความสนใจในสิ่งเร้าภายนอก หรือ อาการต่อไปนี้อย่างน้อย 5 อาการ เป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ ได้แก่ นอนไม่หลับ เซื่องซึม เบื่ออาหารหรือทานอาหารมากเกินไป เหนื่อยง่าย ไม่มีสมาธิ รู้สึกเบื่อ ท้อแท้สิ้นหวัง ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งต้องได้รับการประเมินจากจิตแพทย์อีกครั้ง


 

2. โรคซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia) 

เป็นรูปแบบหนึ่งของโรคซึมเศร้า ที่มีอาการเกิดขึ้นยาวนานกว่า 2  ปี โดยมักจะเวียนมาทำให้ผู้ป่วยเกิดอารมณ์ซึมเศร้า ทุกๆ 2 เดือนหรืออาจเร็วกว่านั้น ทำให้รบกวนชีวิตประจำวัน และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การเรียน ความสัมพันธ์ หรืออื่นๆ ทำให้ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจถูกตัดสินว่า เป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ขี้บ่น ขี้น้อยใจ ซึ่งอาจเกิดจากการรับมือกับความเจ็บป่วยทางจิตใจ  


 

3. ภาวะซึมเศร้าในโรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder)

ภาวะซึมเศร้าประเภทนี้ เป็นอาการที่เกิดขึ้นในโรคอารมณ์สองขั้ว หรือ ไบโพลาร์ ซึ่งเป็นภาวะสุขภาพจิตที่ทำให้อารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรงและเปลี่ยนแปลงพลังงาน ความคิด พฤติกรรม ของผู้ป่วยสลับไปมา ได้แก่ ช่วงที่มีอาการคึกคัก สนุกสนาน พลังงานสูง เรียกว่าช่วงเมเนีย สลับกับ ช่วงที่ซึมเศร้า หดหู่ ไม่มีเรี่ยวแรง เรียกว่าช่วงซึมเศร้า ซึ่งการแปรปรวนทางพฤติกรรมและอารมณ์นี้ไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่ชัด อาจสลับแปรปรวนในหนึ่งสัปดาห์ หรือเป็นเดือนก็ได้ 


 

4. ภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล Seasonal Affective Disorder (SAD)

เป็นภาวะซึมเศร้าประเภทหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล หรือสภาพภูมิอากาศ  ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าประเภทนี้มักจะรู้สึกเศร้า สิ้นหวัง เหนื่อยล้าเป็นพิเศษ และหมดความสนใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงฤดูกาลนั้นๆ ของปี เช่นหลายคนอาจเริ่มรู้สึกเศร้าในช่วงฤดูฝน ไปจนถึงฤดูหนาวของทุกปี  สาเหตุที่แท้จริงของโรคอารมณ์แปรปรวนตามฤดูกาล (SAD) ยังคงไม่ชัดเจน แต่ก็มีการสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารในสมองอย่างรวดเร็ว หรือเกี่ยวข้องกับบรรยากาศที่อึมครึม ไม่ได้พบเจอแสงแดด 


 

5. ภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว (Post-Vacation Blues)

คือ ภาวะรู้สึกเศร้า เหนื่อยล้า ไม่มีแรงจูงใจ หรือขาดความสนใจในกิจกรรมต่างๆ หลังจากกลับมาจากการพักผ่อนหรือวันหยุดยาว บางคนอาจรู้สึกท้อแท้หรือไม่อยากกลับเข้าสู่ชีวิตประจำวัน เช่น หลังจากที่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่และมีตารางชีวิตที่ยืดหยุ่นในช่วงปิดเทอม พอกลับมาโรงเรียน ต้องตื่นเช้า เรียนตามตารางและมีภาระงานที่ต้องตาม ก็อาจทำให้รู้สึกหดหู่ เศร้า หรือเบื่อหน่ายได้ 


 

ภาวะเหล่านี้อาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การกลับมาสู่ความเป็นจริงที่ต้องรับผิดชอบภาระงานต่างๆ  ความรู้สึกที่ว่าการพักผ่อนจบลงเร็วเกินไป หรือการต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่เครียดและเหนื่อยล้าในการทำงานหรือชีวิตประจำวัน อาการนี้มักจะหายไปเมื่อเวลาผ่านไปหลังจากที่ปรับตัวกับกิจวัตรปกติ


 

6. โรคซึมเศร้าก่อนมีประจำเดือน Premenstrual Dysphoric Disorder (PMDD)

เป็นโรคทางอารมณ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะมีประจำเดือน ตามการศึกษาใน American Journal of Psychiatry ถึงแม้จะมีผู้หญิงมากถึง 85% ที่ประสบกับภาวะอารมณ์แปรปรวนจากการมีประจำเดือน แต่มีเพียง 5% ของผู้หญิงเท่านั้นที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น PMDD 


 

กลุ่มอาการเหล่านี้จะแตกต่างจากภาวะแปรปรวนจากการมีประจำเดือนทั่วไป คือ จะมีความเศร้าขั้นรุนแรง หรือความวิตกกังวลในระดับมาก ที่ส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตปกติ การเรียน และการทำงาน 

ภาวะ PMDD มักเกิดขึ้นซ้ำทุกเดือนก่อนและระหว่างมีประจำเดือน อาการมักจะเริ่ม 7 - 10 วันก่อนมีประจำเดือนและความรุนแรงจะลดลงภายใน 2 - 3 วันหลังจากเริ่มมีประจำเดือน อาการจะหายไปอย่างสมบูรณ์จนถึงช่วงก่อนมีประจำเดือนครั้งถัดไป


 

7. ภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากความผิดปกติของการปรับตัว (Reactive Depression/Adjustment Disorder)

ภาวะซึมเศร้าตามสถานการณ์หรือที่เรียกว่าภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากความผิดปกติของการปรับตัว เป็นภาวะซึมเศร้าที่เกี่ยวข้องกับความเครียด สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากที่ได้พบกับหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจหรือเจอการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างของเหตุการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงที่อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามสถานการณ์ เช่น  การสูญเสียคนที่รัก คนใกล้ตัว ต้องโยกย้ายที่อยู่ โรงเรียนกระทันหัน ความขัดแย้งในครอบครัว การสูญเสียอวัยวะ  เป็นต้น ภาวะซึมเศร้าตามสถานการณ์จึงเป็นความผิดปกติของการปรับตัว ที่เกิดจากการพยายามต่อสู้ดิ้นรนของแต่ละคนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 


 

พี่ a-chieve เข้าใจดีว่า เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับความเศร้า เราอาจรู้สึกเหมือนทุกอย่างในชีวิตประจำวันที่เคยง่ายก็ยากมากขึ้น จะออกไปเรียน  ปาร์ตี้กับเพื่อน หรือแค่ลุกขึ้นจากเตียงก็รู้สึกเหมือนกับว่าต้องใช้พลังงานมหาศาลในการรับมือ ก็ขอเชียร์ให้น้องๆ รวบรวมแรงใจ ฮึบ! ขึ้นมาสำรวจอารมณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่อีกสักนิด และแนะนำให้ลองพูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อหาทางรับมือไปด้วยกัน เพราะความเศร้า คือ ธรรมชาติของมนุษย์ เราไม่จำเป็นต้องฝืนธรรมชาติ ไม่ต้องกังวลหรือกลัวว่าสิ่งนี้คือเรื่องผิดปกติ แค่เปิดใจและเรียนรู้ที่จะรับมือกับมันในวันที่ความเศร้ามาเยือน



อ้างอิง 

https://www.webmd.com/depression/depression-types

 

 


avatar-ผู้เขียน
พัชรพร ศุภผล ผู้เขียน

ใช้แมวเป็นวิตามิน มีร้านหนังสือและแกลอรี่อาร์ตเป็นพื้นที่ปลอดภัย รักเจ้าชายน้อยและคิดว่าตัวเองก็คงมาจากดาวb612 เช่นกัน

avatar-นักออกแบบภาพ
สาธิดา ราหุละ นักออกแบบภาพ

ทาสแมวที่วาดรูปได้นิดหน่อย รื่นรมย์กับคราฟต์เบียร์ การเดินทาง และศิลปะ

Tag :