Top5 โจทย์ยากที่ครูไทยยังต้องเจอ

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2565 เวลา 21:48 • ใช้เวลาอ่าน 2 นาที
5 โจทย์ครูไทย_Edited-02.jpg

 

สวัสดีวันครู
วันที่ชวนให้นักเรียน และลูกศิษย์ ได้ระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ ที่ได้อบรมสั่งสอนเรามา

 

ตอนเด็กๆ เรามองเห็นภาพว่าครูคือผู้สอนหนังสือ ให้ความรู้กับคนอื่น จนโตขึ้นมาเป็นครู มีเพื่อนที่ทำงานเป็นครู เห็นข่าว ฟังเสียงครูหลายคน จึงได้รู้ว่า งานสอนเป็นเพียง 1 ส่วน 4 ของงานครูเท่านั้น มีงานอื่นๆ มากมายที่ครูได้แต่ก้มหน้าทำไป คิดไปในใจว่า “จำเป็นไหม” ที่คนเป็นครูต้องมาทำงานเหล่านี้ ในสังคมที่ปลูกฝังวลี ครูคือเรือจ้าง ครูคือผู้เสียสละ ถ้อยคำเหล่านี้ทำให้ครูหลายคนมองว่า การทำงานหนักจนไม่มี Work-Life Balance ของครูถือเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย และไม่กล้าที่จะแสดงความเหน็ดเหนื่อย ปริปากบ่นออกมาเพราะจะทำให้ คำว่า ครู ที่มีที่มาจากคำว่า ครุ ซึ่งแปลว่า หนัก นั้น สูญเสียคุณค่าไป จนหลงลืมไปว่าการจะเป็นบ้านหลังที่สองให้กับเด็กๆ ได้นั้น ก็ต้องมีเสาเข็มที่แข็งแรง เหมาะสมกับน้ำหนักของตัวบ้าน ถ้าเสาเข็มแบกรับน้ำหนักของตัวบ้านที่มากเกินไปจนเสียสมดุล ก็อาจเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยเช่นกัน วันนี้เราหยิบยก 5 ความเครียดที่ครูไทยต้องแบกรับ นอกเหนือจากงานสอน ไม่ใช่เพื่อบ่นระบาย แต่เพื่อย้ำชัดถึงเพื่อนครูที่กำลังพยายามทำงานดูแลสนับสนุนนักเรียนทุกคน ว่าพวกเรารับรู้ถึงความท้าทายนี้ และกำลังพยายามพัฒนางานเพื่อสนับสนุนคุณครูทุกคนอยู่

 

 

 1. งานเอกสาร  

 

ปัญหาสำคัญของครูไทยที่ต้องแบกรับเป็นอันดับหนึ่ง คือการทำเอกสารมากมายเกินความจำเป็น หากไปลองสัมภาษณ์ครูหนึ่งคนถึงเอกสารที่ต้องทำ จะได้ข้อมูลที่น่าตกใจว่า ครูมีเอกสารที่ต้องทำมากมายเกินกว่า 30 ชิ้น ในภาระงานสอน ครูต้องทำแผนการสอนฉบับที่ทำเพื่อให้ผู้บริหารรับทราบ ไม่ได้นำไปใช้จริง แม้ปัจจุบันจะมีเครื่องมือออนไลน์หรือรูปแบบแผนการสอนแบบหน้าเดียว แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับในหลายๆ โรงเรียน หากครูคนหนึ่งมีโครงสร้างการสอน 100 ชั่วโมงก็จะต้องทำแผนการสอน 100 แผน ที่สิ้นเปลืองซึ่งทรัพยากรและเวลาที่จะนำไปออกแบบสื่อและการสอน ในภาระงานประจำชั้น ครูคนหนึ่งต้องรับผิดชอบเอกสารที่มากกว่าข้อมูลพื้นฐานนักเรียน มีบันทึกการแปรงฟัน การดื่มนม รวมไปอยู่ในนั้นด้วย ครูหนึ่งคนสามารถพ่วงได้หลายตำแหน่ง หากคุณเป็นครูที่อยู่ฝ่ายการเงิน ฝ่ายพัสดุ หรือรับผิดชอบโครงการอะไรบางอย่าง คุณก็จะมีงานเอกสารเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว  ไม่นับรวมถึงงานเอกสารที่ต้องรายงานตัวเอง รายงานเพื่อนครูด้วยกันอีกเยอะแยะมากมาย งานเหล่านี้ทำให้ครูต้องจดจ่ออยู่หน้าจอเกินความจำเป็น ส่งผลเสียต่อสายตา สร้างความกดดันและบางคนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อกระดาษและปรินท์เอกสารเอง

 

2. สอนไม่ตรงรายวิชา

 

  เป็นครูต้องสอนได้ทุกวิชา ยิ่งเป็นครูประถมต้องสอนได้ทุกอย่าง คือค่านิยมหนึ่งที่ครูไทยต้องเผชิญ ในขณะที่เราต่างบอกเด็กๆ ว่า แต่ละคนมีความถนัดและความชอบแตกต่างกัน เรากลับบังคับให้ครูคนหนึ่งต้องเก่งทุกวิชา สิ่งเหล่านี้ส่งผลเสียทั้งกับครูและนักเรียน นักเรียนจะไม่ได้เรียนจากครูที่มีความถนัดในรายวิชานี้โดยตรง ซึ่งอาจมีเทคนิค วิธีการสอนที่ทำได้ดีกว่าครูที่ไม่ได้จบในวิชานี้ หรือวิชาแนะแนวที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างจิตวิทยา ก็มักถูกโยนให้ครูประจำชั้นเข้ามาสอนเพราะมองว่าเป็นชั่วโมงการเรียนรู้ที่ไม่ต้องใช้ความรู้เฉพาะด้านมากนัก ทำให้นักเรียนไม่ได้เข้าถึงการแนะแนวที่แท้จริงจากผู้เชี่ยวชาญ ส่วนคุณครูก็ต้องแบกรับความเครียดที่ต้องสอนรายวิชาที่ไม่ถนัด ต้องคอยระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาด ไม่รู้ว่าจะเลือกข้อมูลความรู้หรือนำเครื่องมือใดมาใช้สอนนักเรียน

 

3. รู้สึกผิดเมื่อต้องลางาน

 

  ครูหลายคนเมื่อป่วยหรือมีกิจธุระจำเป็นมักรู้สึกผิดที่จะลาหยุด เพราะกลัวว่าจะไม่มีคนสอนแทน จะพลาดประชุม พลาดงานสำคัญ ครูหลายคนกลัวว่าการลาหยุดจะส่งผลต่อการประเมินขั้นเงินเดือนของตัวเอง จนยอมแบกร่างกายเจ็บป่วยของตัวเองไปโรงเรียน หรือเมื่อเจอสถานการณ์ฉุกเฉินพ่อแม่เจ็บป่วยไม่สบาย ก็ไม่กล้าจะขอลาไปเยี่ยม สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพกายของครูที่ทำงานเหน็ดเหนื่อย ไม่มีเวลาพัก แม้ป่วยก็ไม่ได้หยุดรักษา และยังส่งผลกับสุขภาพจิตใจเป็นอย่างมากอีกด้วย เพราะมีครูหลายคนที่ประสบกับปัญหาซึมเศร้า เครียด วิตกกังวลที่ไม่สามารถลากลับบ้านไปทำธุระสำคัญจำเป็นได้ นอกจากนี้ยังรวมถึงการไม่กล้ากลับบ้านตรงเวลา แม้จะเป็นเวลาเลิกงาน เพราะทำให้รู้สึกว่าตัวเองยังทำงานหนักไม่พอ

 

4. ขายของสหกรณ์ ทาสีรั้วโรงเรียน ฯลฯ

 

 นอกจากงานสอน งานด้านวิชาการ และงานดูแลนักเรียนแล้ว ครูยังโดนงานอื่นๆ เข้ามาเบียดบังเวลาใช้ชีวิตจนเหน็ดเหนื่อยไปตามๆ กัน เช่น ช่วงพักเที่ยง ต้องรีบทานข้าวเพื่อไปเป็นแม่ค้าขายของที่สหกรณ์ ต้องทาสี ปลูกต้นไม้ ปรับปรุงทัศนียภาพโรงเรียน จัดโต๊ะ ต้อนรับคนมาดูงาน ไปจนถึงทำการแสดงต้อนรับก็มี หรือในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ก็มีครูหลายคนที่ต้องมาอยู่ที่โรงเรียนด้วยคำสั่งเฝ้าเวร งานเหล่านี้ไม่ใช่งานที่ไม่มีความสำคัญ แต่อาจต้องทบทวนอีกครั้งว่าเป็นการเพิ่มภาระงานให้ครูเกินความจำเป็นหรือไม่ สามารถหาเจ้าหน้าที่ที่ตรงตามลักษณะงานมาทำแทนได้หรือไม่ เพื่อปล่อยให้ครูได้พักเต็มที่ในช่วงเวลาที่สมควรพัก ให้ได้รีสตาร์ทร่างกายและหัวใจให้กลับมารับมือกับงานที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็คือนักเรียนนั่นเอง

 

5. การประเมิน

 

สิ่งที่สร้างความเครียดให้ครูทั้งหมดทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นการต้องทำเอกสารจำนวนมาก การทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาระงานสอน การสะสมวันทำงานไม่ยอมขาดลามาสาย และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้ถูกครอบด้วยคำว่า “ประเมิน” ซึ่งในหนึ่งปีการศึกษา ครูคนหนึ่งจะต้องทำสิ่งต่างๆ มากมายอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น เพื่อให้การประเมินของตัวเองนั้นออกมาดี หมดทั้งแรงกาย แรงใจและทุนทรัพย์ แม้จะเหนื่อยและต้องกดดันตัวเองในทุกๆ ปีกับการประเมินในแต่ละครั้งก็ตาม ไม่รวมถึงการประเมินเพื่อวิทยฐานะที่ต้องอาศัยการทำผลงานวิชาการและการจัดแสดงผลงานที่ต้องใช้เวลามหาศาล การผูกติดคุณภาพของครูไว้กับผลงานที่จัดแสดง ป้ายนิเทศ ทำให้ครูไม่ได้โฟกัสกับนักเรียนและงานสอนเท่าที่ควร การประเมินอื่นๆ ที่ผูกติดมากับครู อย่างประเมินโรงเรียน ประเมินนักเรียน ก็เป็นอีกหนึ่งความเครียดที่ครูถูกกำหนดให้ต้องแบกรับ  

 

แน่นอนว่าปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้อาจไม่สามารถแก้ไขได้ภายในวันสองวัน แต่ก็สามารถคลี่คลายได้หากเราร่วมมือกัน ร่วมกันสร้าง Work-Life balance ให้เกิดขึ้นจริง ปรับสมดุลการทำงานให้ครูไทยได้ทำงานอย่างเหมาะสม มีเวลาพักให้ร่างกายและจิตใจ และเข้าถึงสวัสดิการที่สมควร เพื่อให้บ้านหลังที่สองของเด็กๆ เป็นบ้านที่แข็งแรง และพร้อมให้เด็กๆ ได้เข้าไปพักอาศัยพึ่งพิงหัวใจ


อย่างไรก็ตาม หากคุณครูรู้สึกหนักใจ กดดัน กังวล เราอยากชวนให้แบ่งปันความรู้สึกของตัวเองกับเพื่อนครู คนที่ไว้ใจหรือสมาชิกในครอบครัว การสนทนากับหัวหน้างานอย่างตรงไปตรงมา มีหลักการชัดเจน มีเหตุผล และร่วมออกแบบแนวทางการทำงานร่วมกัน จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจและให้การสนับสนุน ความสัมพันธ์ที่ดีจะส่งผลดีต่อเด็กที่กำลังสอน หากคุณครูรู้สึกถึงสุขภาพจิตที่กำลังแย่ หดหู่ เบื่องาน หมดไฟ ไม่อยากไปโรงเรียน นอนไม่หลับเพราะเครียดมากเกินไป การพบจิตแพทย์ก็อาจเป็นอีกหนทางหนึ่งที่คุณครูสามารถขอความช่วยเหลือได้  และในสถานการณ์ช่วงโควิด-19 ที่ครูหลายคนต้องหันมาสอนออนไลน์ หลายคนรู้สึกเครียดมากยิ่งขึ้นเพราะรู้สึกว่าจัดการห้องเรียนได้ยาก เทคโนโลยีที่ครูต้องปรับตัวมาเรียนรู้ก็สร้างความกดดันให้ครูไม่น้อย ยังไม่นับรวมความไม่พร้อมของเครื่องมือต่างๆ อีก เราอยากขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจ และขอเชิญชวนให้คุณครูทุกคนใจดีกับตัวเอง ทำความเข้าใจว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่เราต้องเผชิญ มองหาชุมชนที่พร้อมสนับสนุนให้คุณครูสามารถดำเนินงานต่างๆ ให้ลุล่วง ไปพร้อมกับการออกแบบการดูแลนักเรียนอย่างเข้าใจ เมื่อครูเป็นผู้เริ่มลงมือทำและนำการเปลี่ยนแปลง โรงเรียน และโลกก็จะเปลี่ยนแปลงตาม ขอเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกท่านค่ะ

 


avatar-ผู้เขียน
พัชรพร ศุภผล ผู้เขียน

ใช้แมวเป็นวิตามิน มีร้านหนังสือและแกลอรี่อาร์ตเป็นพื้นที่ปลอดภัย รักเจ้าชายน้อยและคิดว่าตัวเองก็คงมาจากดาวb612 เช่นกัน

avatar-นักออกแบบภาพ
Kidsun นักออกแบบภาพ

อยากเกิดใหม่เป็นเป็ด จะได้เป็น เป็ดปักกิ่ง

Tag :