เราจะรู้จักตัวเองเพิ่มขึ้นได้ยังไงนะ?
หลายคนอาจเคยได้รับคำแนะนำว่า ให้ลองออกไปทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย
ซึ่งก็ไม่ใช่คำตอบที่ผิดอะไร ขอแค่เรากลับมาทบทวนกับตัวเอง ว่าเรามีความรู้สึกหรือได้ค้นพบอะไรเกี่ยวกับตัวเองหลังจบกิจกรรมนั้นๆ บ้าง
แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีวิธีอื่นๆ ที่น่าสนใจและสามารถช่วยให้เรารู้จักตัวเองเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งอาจช่วยป้องกันการรู้จักตัวเองแบบมีอคติ ลำเอียง หรือแม้แต่การคิดไปเอง ส่วนจะมีอะไรบ้าง วันนี้ a-chieve จะขอหยิบ 3 แนวทางมาแบ่งปันกันค่ะ!

1. #รู้จักตัวเองด้วยตัวเอง
อย่างที่หลายคนรู้ว่าไม่มีใครรู้จักเราได้ดีเท่าตัวเราเอง แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางครั้งเราอาจเผลอหลงลืมหรือละทิ้งความเป็นตัวตนของเราไปบ้างเหมือนกัน
แล้วเราจะเชื่อในตัวเองได้แค่ไหนกันนะ?
วิธีการหนึ่งที่อยากแนะนำคือ การถอยออกมามองตัวเองในภาพรวม ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ต้องอาศัยการทำบันทึกข้อมูลที่สม่ำเสมอ อาจจะเป็นการเขียนไดอารี่ หรือการใช้แอปพลิเคชันที่มีฟังก์ชั่นคล้ายบันทึกประจำวัน อย่าง Mood Tracking ที่สามารถดาวน์โหลดได้ทั่วไปก็ได้ โดยสิ่งที่บันทึกอาจเป็นได้ทั้ง
1) การสังเกตความรู้สึกตัวเอง เมื่อเจอเหตุการณ์ต่างๆ ดูว่าสถานการณ์แบบไหนนะที่เราชอบ รู้สึกอุ่นใจ หงุดหงิด เบื่อ โกรธ ฯลฯ
ตัวอย่าง: “วันนี้โดนเพื่อนสนิทเทนัดเที่ยว เพื่อนอีกคนโมโหมาก ส่วนฉันกลับไม่ค่อยโกรธอะไร ออกจะดีใจเสียด้วยซ้ำ”
2) การทบทวนสิ่งที่เราได้ค้นพบหรือเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง
ตัวอย่าง: “เหตุผลที่ทำให้รู้สึกโอเค อาจเพราะฉันจะได้อยู่บ้าน ไม่ต้องออกไปเจอใคร เวลาอยู่กับคนเยอะๆ แล้วพลังหายหมดเลย ถ้าอยู่บ้านเงียบๆ คนเดียว ฉันจะรู้สึกว่าได้พักมากกว่า”
3) การตั้งคำถามกับตัวเองเพื่อลงมือค้นหาตัวเองต่อไป
ตัวอย่าง: “หรือฉันจะเป็นมนุษย์แนวอินโทรเวิร์ด (Introvert) นะ?”
หมายเหตุ: ทำความเข้าใจ Introvert เพิ่มได้ที่ https://thematter.co/thinkers/introvert/25763

2. #รู้จักตัวเองผ่านสายตาคนรอบตัว
คนรอบตัวในที่นี้อาจหมายถึงเพื่อนสนิท คนในครอบครัว คุณครูที่เราสนิท หรือผู้ใหญ่ที่เราวางใจ ก็ได้
1. การถามอย่างตรงไปตรงมา ว่าคนรอบตัวมองว่าเราเป็นคนอย่างไร มีข้อเด่น ข้อด้อย เรื่องอะไรบ้าง
2. การสังเกตพฤติกรรม คำพูด น้ำเสียง เวลาที่คนรอบตัวคุยกับเรา แสดงออกเวลามีปฏิสัมพันธ์กับเรา หรือพูดถึงเรา เช่น คนรอบตัวมักขอบคุณเราด้วยเรื่องอะไร เขาชื่นชม หรือเคยตักเตือนเราเรื่องอะไรบ้าง เป็นต้น
3. สังเกตพฤติกรรม ลักษณะนิสัย ความคิดความเชื่อ ฯลฯ ของคนรอบตัว มีงานวิจัยระบุว่า เราคือค่าเฉลี่ยของคน 5 คน ที่ใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด เพราะความใกล้ชิดนี้เองที่อาจทำให้เกิดการซึมซับและหนุนเสริมให้เกิดพฤติกรรม ลักษณะนิสัย หรือความคิดความเชื่อที่คล้ายกัน

3. #รู้จักตัวเองผ่านเครื่องมือ/กิจกรรม/สื่อการเรียนรู้ต่างๆ
1. การทำแบบสำรวจ แบบทดสอบ แบบวัด
***ข้อควรระวังคือ อย่าเผลอด่วนตัดสิน หรือยึดเอาคำตอบที่ได้เป็นความถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว เพราะการทำแบบสำรวจหรือแบบทดสอบนี้ อาจมีปัจจัยที่ทำให้ผลคลาดเคลื่อนได้ ยกตัวอย่าง เช่น ตัวเราที่เป็นคนกรอกข้อมูล แต่บางครั้งเราอาจเผลอตอบคำถามบางข้อด้วยเหตุผลว่า มันคือสิ่งที่ควรทำตามความเชื่อของสังคม มากกว่าสิ่งที่เป็นตัวเรา
2. การเล่นบอร์ดเกม การ์ดไพ่ มีบอร์ดเกมและการ์ดไพ่ที่น่าสนใจมากมาย ที่มาพร้อมสถานการณ์หรือคำถามให้เราได้กลับมาคิดทบทวนกับตัวเอง
3. การอ่านหนังสือ ประเภทอัตชีวประวัติ เส้นทางการเรียนรู้และค้นหาตัวเองของผู้อื่น หรือหนังสือ How-to การรู้จักตัวเอง
4. การเข้าร่วมหรือทำกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ ลองลงมือทำ (อาจจะเป็นสิ่งเดิมที่เราคุ้นชิน หรือสิ่งใหม่ที่เราไม่เคยมีประสบการณ์ก็ได้) เช่น เข้าร่วมเวิร์กช็อป ออกเดินทาง พูดคุยกับผู้คน เป็นต้น
อ้างอิง
- https://www.theschooloflife.com/article/know-yourself/