แจก Action Plan เตรียมพร้อมการทำพอร์ตโฟลิโอ

วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2567 เวลา 11:56 • ใช้เวลาอ่าน 2 นาที
ปกเว็ป-2.JPG

 

📌 แจก Action Plan เตรียมพร้อมการทำพอร์ตโฟลิโอ

.

แฟ้มสะสมผลงาน หรือ พอร์ตโฟลิโอที่ได้รับการคัดเลือก มักจะเป็นพอร์ตฯ ที่แสดงให้คณะกรรมการเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเข้าเรียนต่อในคณะที่น้อง ๆ ใฝ่ฝันได้อย่างชัดเจนและครบถ้วน รวมถึงมีการนำเสนอผลงานและประสบการณ์ที่ตรงกับหลักสูตรของคณะนั้นๆ ได้อย่างเหมาะสม

.

🤔 แต่กว่าจะออกมาเป็นพอร์ตฯ ที่สมบูรณ์แบบต้องอาศัยการวางแผนอย่างละเอียด เพื่อให้น้องๆ สามารถเตรียมตัวเก็บข้อมูลได้ตั้งแต่เนิ่นๆ วันนี้พี่ a-chieve เลยมาแจกตัวอย่าง Action Plan 1 เดือน สำหรับการวางแผนทำพอร์ตฯ ของตัวเอง 🙂

.

🗓 Action Plan 1 เดือน

.

ขั้นตอนที่ 1 : การสำรวจและวางแผน

ระยะเวลา : 1 สัปดาห์

วิธีการ

1. วิเคราะห์ตัวเอง : เป็นช่วงเวลาของการหาจุดเด่น ความสนใจและความสามารถพิเศษของตัวเองผ่านเครื่องมือและตัวช่วยต่างๆ เช่น เครื่องมือตุ๊กตาขนมปังจาก www.a-chieve.org เป็นต้น

2. ศึกษาตัวอย่างพอร์ตฟอลิโอ : ลองค้นคว้าตัวอย่างพอร์ตฯต่าง ๆ ในคณะที่สนใจ เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบพอร์ตฯ ของตัวเอง

3. วางโครงหรือองค์ประกอบการเล่าเรื่อง : เขียนเค้าโครงหรือธีมในการเล่าเรื่องในพอร์ตฯ ของเรา โดยศึกษาจากเกณฑ์ของคณะต่าง ๆ ที่ประกาศไว้

.

.

ขั้นตอนที่ 2 : รวบรวมผลงาน

ระยะเวลา : 1 สัปดาห์

วิธีการ

1. คัดเลือกผลงานที่สำคัญ : เป็นช่วงเวลาที่น้องๆ ควรย้อนกลับไปหารูปหรือผลงานเก่า ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะที่ต้องการเรียนต่อ เช่น ผลงานการเข้าร่วมกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ผลงานการแข่งขัน ผลงานด้านศิลปะ เป็นต้น

2. สร้างผลงานใหม่ : หากน้องๆ มีเวลา ขอให้ใช้เวลานี้ในการออกไปหาประสบการณ์ใหม่เพิ่มมากขึ้น เช่น กิจกรรมอาสา หรือคิดโปรเจกต์ใหม่ ๆ ของตนเองขึ้นมา และที่สำคัญอย่าลืมถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับการใส่พอร์ตฯ ด้วยนะ

.

.

ขั้นตอนที่ 3 : เขียนเนื้อหา

ระยะเวลา : 1-2 สัปดาห์

วิธีการ :

1. เขียนเนื้อหาในส่วนของหน้าปก คำนำ และประวัติส่วนตัว :  เริ่มต้นเขียนจากส่วนที่ง่าย เช่น ส่วนที่อธิบายถึงตัวเองแบบไม่ต้องใช้เวลาคิดนาน ในส่วนนี้น้อง ๆ ควรใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน

2. เขียนเนื้อหาในส่วนของกิจกรรม : เขียนอธิบายความสำคัญของกิจกรรม / สิ่งที่ได้เรียนรู้ / ทักษะที่ได้รับจากการทำแต่ละกิจกรรมเพื่อให้กรรมการเห็นภาพมากที่สุด

.

.

ขั้นตอนที่ 4 : จัดเรียงและออกแบบ

ระยะเวลา : 1 สัปดาห์

วิธีการ

1. จัดเรียงลำดับผลงาน : เรียงลำดับผลงานจากอดีตไปจนถึงปัจจุบัน และเลือกรูปภาพที่ชัด ไม่เก่าจนเกินไป

2. ออกแบบการจัดวาง  : ลองค้นหาไอเดียการจัดวางโครงหน้า ที่ดูเป็นระเบียบ สีสันไม่เยอะจนเกินไป เน้นการจัดวางตัวหนังสือให้อ่านง่าย และที่สำคัญลองค้นหารหัสสีที่คณะใช้เพื่อแสดงถึงความใส่ใจกระตือรือร้นในการเข้าเรียนในคณะนั้น ๆ

3. ใช้เครื่องมือหรือโปรแกรมตกแต่ง : ใช้โปรแกรมออกแบบพอร์ตฟอลิโอ เช่น Canva หรือ Adobe เพื่อตกแต่งพอร์ตฯ ให้สวยงามมากยิ่งขึ้น

.

.

ขั้นตอนที่ 5 : ตรวจทานและปรับปรุง

ระยะเวลา : 3 วัน

วิธีการ

1. ตรวจทานด้วยตนเอง : ลองตรวจทานว่าในพอร์ตฯ ของเรามีคำถูก-ผิดหรือไม่ หรือมีคำตกหล่นในระหว่างบรรดทัดหรือเปล่า รวมถึงตรวจสอบองค์ประกอบต่าง ๆ ของพอร์ตฯให้ครบถ้วนตามที่เกณฑ์ได้บอกไว้

2. ส่งต่อให้คนอื่นอ่านและให้คำแนะนำ :  ลองส่งพอร์ตฯให้เพื่อน รุ่นพี่ หรือครูที่ปรึกษาอ่านเพื่อรับคำแนะนำและมุมมองใหม่ ๆ หากจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข

.

.

ขั้นตอนที่ 6 : การเตรียมตัวสำหรับสัมภาษณ์

ระยะเวลา : 2-3 วัน

วิธีการ

1. ฝึกพูดอธิบายเกี่ยวกับพอร์ตฯ : ฝึกพูดอธิบายผลงานในพอร์ตฯของตนเองให้ชัดเจนและมีความมั่นใจ

2. เตรียมคำตอบสำหรับคำถามต่าง ๆ : เตรียมคำตอบสำหรับการสัมภาษณ์ เช่น “ผลงานไหนที่ภูมิใจที่สุด” หรือ “ได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมนี้บ้าง” การเตรียมคำตอบนี้จะช่วยให้น้อง ๆ ไม่ตื่นตระหนกและมีความมั่นใจในการตอบมากขึ้น

.

.

6 ขั้นตอนนี้เป็นตัวอย่างของ Action Plan การทำพอร์ตฯ ภายในระยะเวลา 1 เดือน

ที่อยากให้น้อง ๆ ได้มีแผนเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ

แต่ควบคู่กับการมีแผนแล้ว ขอให้ทุกคนรักษาวินัยและยึดมั่นในการทำตามแผนให้เต็มที่มากที่สุดนะคะ พี่เชื่อว่าพอร์ตฯ ของน้อง ๆ จะต้องออกมาสมบูรณ์แบบอย่างแน่นอน!

.

พี่ๆ a-chieve ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนค่ะ 😍


avatar-นักออกแบบภาพ
พิมพ์พร นักออกแบบภาพ

ความฝันของช่วงวัยใกล้แตะ 30 คืออยากมีหมาคอกี้เป็นของตัวเอง

avatar-ผู้เขียน
ศุลีย์ภัสร์ หอมระรื่น ผู้เขียน

อยู่ได้ทุกที่ที่มีลาเต้เย็นหวานน้อยที่ถูกใจ

Tag :

บทความแนะนำ

ไม่มีข้อมูล

กิจกรรมแนะนำ

ไม่มีข้อมูล