
นิยามสั้นๆ
ผู้สร้าง ดูแล และอัพเดทระบบของโปรแกรม เว็บไซต์ หรือแอพลิเคชั่น ทั้งส่วนเบื้องหน้า ซึ่งเป็นส่วนที่ติดต่อกับผู้ใช้งาน (Front-end) และส่วนระบบที่อยู่เบื้องหลัง (Back-end) ซึ่งเป็นส่วนของฐานข้อมูลและคำสั่งประมวลผล ให้ทำหน้าที่ตามต้องการ
ลักษณะงาน
- ทำงานทั้งในส่วนที่ติดต่อกับผู้ใช้งาน (Front-end) และส่วนระบบที่อยู่เบื้องหลัง (Back-end) โดยแต่ละด้านมีลักษณะงาน ดังนี้
- งานส่วนที่ติดต่อกับผู้ใช้งาน (Front-end)
- ทำให้หน้าตา ปุ่ม การจัดวางส่วนแสดงผลให้ผู้ใช้งานเป็นไปตามที่ผู้ออกแบบได้ออกแบบไว้
- เชื่อมต่อข้อมูลกับระบบ ทั้งในการนำข้อมูลที่ได้จากผู้ใช้งานเข้าสู่ระบบ และการแสดงข้อมูลจากระบบให้ผู้ใช้งาน
- งานส่วนระบบที่อยู่เบื้องหลัง (Back-end)
- ดูแลเรื่องข้อมูล จัดการข้อมูลที่ต้องการเก็บ แก้ไข ลบ
- ดูแลระบบให้รองรับกับจำนวนผู้ใช้
- งานส่วนที่ติดต่อกับผู้ใช้งาน (Front-end)
- ในองค์กรขนาดใหญ่ นักพัฒนาจะทำงานกันเป็นทีม
ขั้นตอนการทำงาน
- รับโจทย์หรือความต้องการของลูกค้า โดยนักพัฒนา (Developer) จะผู้รับโจทย์เองโดยตรงหากเป็นองค์กรเล็ก หรือรับโจทย์ผ่านผู้จัดการโครงการ (Project Manager / Product Manager) สำหรับองค์กรที่มีทีมขนาดใหญ่
- ประเมินเวลา และวิธีการทำงาน
- หาข้อมูลหรือเรียนรู้เพิ่มเติม (Research) หากเป็นโจทย์หรือปัญหาที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์หรือไม่เชี่ยวชาญ
- ออกแบบระบบ และลงมือเขียน Code
- ทดสอบและตรวจสอบการทำงานของระบบ (Test) โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
- ทดสอบภายใน (Internal Testing) ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดองค์กร โดยองค์กรขนาดเล็ก นักพัฒนา (Developer) อาจเป็นคนทดสอบระบบเอง ส่วนองค์กรที่มีทีมขนาดใหญ่ จะมีตำแหน่งผู้ทดสอบระบบ (Tester) โดยเฉพาะ เพื่อทดสอบหาข้อบกพร่อง (Bugs) หรือทดสอบการทำงานของระบบว่าเป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่
- ทดสอบโดยผู้ใช้จริง (User Testing) เพื่อทดสอบการใช้งานจากผู้ใช้ระบบ ว่าสามารถใช้งานได้ตามที่ได้ออกแบบไว้หรือไม่
- แก้ไขปรับปรุงตามผล (Feedback) ที่ได้รับจากการทดสอบ จนกว่าจะไม่มีข้อบกพร่อง
- ดูแลและช่วยแก้ไขปัญหา (Support) หลังการส่งมอบชิ้นงาน โดยขึ้นอยู่กับการตกลงหรือสัญญาจ้างว่าจะช่วยดูแลต่อไปอีกกี่เดือน (เช่น 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี เป็นต้น)
อาชีพที่ต้องทำงานร่วมกัน
โดยทั่วไปในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีครบทุกตำแหน่ง นักพัฒนาเต็มรูปแบบ (Full Stack Developer) มักได้ทำงานร่วมกับตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้
- ผู้ประกอบการ/เจ้าของบริษัท
- ผู้ดูแลโครงการ (Project Manager / Product Manager)
- นักออกแบบ (Designer)
- วิศวกรซอฟแวร์ (Software Engineer หรือ Software Technician)
- ผู้ทดสอบระบบ (Tester)
- นักพัฒนาระบบอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ทั้งในระบบแอปเปิ้ล และแอนดรอยด์ (iOS และ Android Developer)
สถานที่และเวลาทำงาน
- เข้าทำงานที่ออฟฟิศเป็นบางวัน หรือทุกวันขึ้นอยู่กับองค์กรที่ทำงาน
- ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง โดยเวลาการทำงานจะขึ้นอยู่กับองค์กรที่ทำงานเช่นกัน (เช่น อาจจะเป็น 10.00 - 19.00 น.)
ความรู้ความสามารถที่ต้องใช้
- เป็นคนที่เรียนรู้ พัฒนาตนเอง และอัพเดทตลอดเวลา ทั้งในด้านความรู้ และเทคโนโลยี ต้องมีความรู้ที่กว้าง ครอบคลุมทุกแง่มุม
- มีทักษะการแก้ปัญหาที่ดี ทั้งการแก้ปัญหาหรือข้อบกพร่องในตัวโปรแกรม (Software Bug) และการแก้ปัญหาจากโจทย์หรือความต้องการที่ได้รับมา
- มีทักษะการสื่อสาร
- มีการวางแผนการคิดที่เป็นระเบียบ มีเหตุมีผล
- สามารถมองภาพและวางแผนระยะยาว จินตนาการถึงผลที่จะตามมาได้
- ชอบศึกษาเว็บหรือแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่ทำงานได้ดี มีการออกแบบใช้งานได้ง่าย สวยงาม
- ควรเปิดรับและรับฟังผู้อื่น เพราะมีแนวโน้มที่จะเจอความเห็นที่หลากหลาย ที่สำคัญคือต้องฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่ต้องการสื่อสารเพื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายของงาน ความต้องการของลูกค้า และสามารถสื่อสารกลับ อธิบายได้ว่าแนวคิดของเราคืออะไร เช่น เมื่อเขียน Code แต่มีคนอื่นให้ความเห็นว่าควรเขียนแบบอื่น หรือไม่ควรเขียนแบบที่เขียน
- ถ้ามีความถนัดในการคำนวณ หรือการวางแผน เช่น การวางแผนเกมหมากรุก หรือ โกะ อาจช่วยให้ทำงานได้ดี
- มีความรู้ในภาษาพื้นฐานของการเขียน code ต่าง ๆ เช่น HTML, CSS, JavaScript, Python เป็นต้น
- มีความรู้ในการจัดการข้อมูล ฐานข้อมูลประเภทต่าง ๆ และระบบรักษาความปลอดภัยของฐานข้อมูล รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบคลาวด์ (Cloud) หรือการเก็บข้อมูลบน Server เพื่อเรียกดูผ่านอินเทอร์เน็ตได้
โอกาส ความท้าทาย และผลตอบแทน
- ไม่จำเป็นต้องมีใบประกอบวิชาชีพ หรือวุฒิการศึกษาในการทำงาน สามารถใช้ตัวอย่างงานที่เคยทำ ตัวอย่าง Code ที่เคยเขียน ได้
- อย่างไรก็ตาม หากเป็นบริษัทที่มีโครงสร้างองค์กรใหญ่ ๆ อาจต้องการวุฒิการศึกษา เพื่อการรับเข้าทำงานตามระเบียบบริษัท
- ค่าตอบแทนที่เป็นเงินเดือน เริ่มต้นขึ้นอยู่กับองค์กรที่ทำงาน อาจเริ่มที่ประมาณ 18,000-25,000 บาท หรือ 25,000-35,000 บาท ที่เป็นองค์กรในเมือง หรือเป็นองค์กรต่างชาติ โดยค่าตอบแทนอาจสูงขึ้นไปหลักแสนบาทได้ เมื่อประสบการณ์และผลงานมีมากขึ้น
- เส้นทางอาชีพ (Career Path) อาจเป็นไปตามลำดับขั้นดังนี้
- นักพัฒนาขั้นเริ่มต้น (Junior Developer)
- นักพัฒนาอาวุโส (Senior Developer)
- ผู้นำทีม (Team Lead)
- ผู้บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (Chief Technology Officer)
- นักพัฒนาที่มีประสบการณ์มากขึ้นยังสามารถขยับไปทำงานเป็น สถาปนิกโครงสร้าง (Software Architect) ได้
- สัดส่วนคนเรียนจบและทำงานตรงสายที่เรียนมาประมาณ 50% เพราะระหว่างเรียนได้ค้นพบว่าไม่ใช่สิ่งที่สนใจ อย่างไรก็ดีความต้องการวิชาชีพนี้เป็นที่ต้องการของตลาดสูง ผู้ที่เรียนจบวิชาชีพนี้โดยตรงมักไม่มีใครตกงาน และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนงานในช่วง 1-2 ปีแรก เพื่อเงินเดือนที่สูงขึ้น ซึ่งมีบริษัทพร้อมจะรับเสมอ
- องค์กรมักมีเงินสนับสนุนให้ไปเรียนคอร์สเพิ่มความรู้ ร่วมสัมนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่าง ๆ
- เป็นอาชีพที่ได้รับความภูมิใจในการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับหลากหลายสาขา และอาจเป็นงานที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม หรือมีผลกระทบกับชีวิตคนได้ เช่น การใช้ AI ช่วยทำหลาย ๆ อย่างในสาขาการแพทย์ อย่างการวิเคราะห์โรค หรือระบบ (Platform) การสั่งอาหาร ที่ทำให้เกิดโอกาสในการประกอบอาชีพเพิ่มเติมได้มากมาย หรือแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
- พัฒนาการของเทคโนโลยี หรือปัญญาประดิษฐ์ ไม่น่ามีผลกระทบกับอาชีพนี้ เนื่องจากเป็นผู้ที่สร้างและฝึก AI ให้ทำงานได้ และทำงานได้ดีขึ้น
- ความท้าทาย คือ ต้องเรียนรู้ใหม่เสมอ ตามเทคโนโลยีให้ทันตลอดเวลา และต้องสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ภายใต้ความกดดันได้
- อาจมีปัญหาทางสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจบ้าง ขึ้นอยู่กับการดูแลตนเอง เช่น ปัญหาออฟฟิศซินโดรม ใช้ความคิดมากจนนอนไม่หลับ เป็นต้น
- อาจมีบางครั้งที่ต้องทำงานในช่วงเวลากลางคืนหรือวันหยุด ขึ้นอยู่กับการตกลงกับองค์กรที่ทำงานด้วย
ช่องทางการศึกษาความรู้เพิ่มเติม
udemy
https://www.udemy.com/ เป็นเว็บที่สอนวิธีการและเทคนิคในการเขียนโปรแกรม เสิร์ชหา Full Stack Developer
https://www.udemy.com/courses/search/?q=full+stack+developer&src=sac&kw=developer
udacity
https://www.udacity.com/ เป็นเว็บเรียนออนไลน์เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะของอาชีพสายไอทีและนักพัฒนา
ข้อมูลสายการเรียนที่เกี่ยวข้อง
มัธยมศึกษาตอนปลาย
- วิทย์-คณิต
- บางสถาบันเปิดรับทุกสายการเรียน วุฒิจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า
ปริญญาตรี เช่น
- คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
- คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
- คณะเทคโนโลยีดิจิทัล สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
- คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิชาวิศวกรรมเครือข่ายคอมพิวเตอร์
- คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์
ปริญญาโท เช่น
- หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
ปริญญาเอก เช่น
- หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
*ข้อมูล ณ ปี 2567