
นิยามสั้นๆ
ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการดูแลและจัดการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ
📃 ลักษณะงาน
- ศึกษา รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ เช่น พันธุ์ไม้ อัตราการเติบโต และสภาพแวดล้อม รวมถึงทำการวิจัยเกี่ยวกับป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ด้วยวิธีต่างๆ เช่นลงพื้นที่สำรวจ
- นำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยป้าไม้และสิ่งแวดล้อม ไปใช้ประโยชน์ในงานต่างๆ หรือส่งต่อให้หน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องการใช้ข้อมูล
- ช่วยปกป้องและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศ ด้วยการทำแผนป้องกันความเสี่ยงต่างๆ เช่น ไฟป่า การค้าไม้ การสูญพันธ์ุของพืชและสัตว์ป่า
- ให้คำแนะนำและช่วยเหลือการทำงานกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้
ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรท้องถิ่น และชุมชน เช่น การเสนอแผนนโยบายอนุรักษ์ป่าไม้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์ป่าไม้กับคนในชุมชน โรงเรียน หรือบริษัทเอกชน
📊 ขั้นตอนการทำงาน
- วางแผนพัฒนา หรือออกแบบโครงการเกี่ยวกับการจัดการป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ โดยประชุมร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
- วางแผนขั้นตอนศึกษา เกี่ยวกับการจัดการป่าไม้ที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงาน เพื่อนำผลไปใช้ในแผนงานหรือโครงการต่างๆ ที่รับผิดชอบ
- รวบรวม และวิจัยค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับป่าไม้ที่ได้รับมอบหมายตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และสรุปผลออกมาอย่างเป็นระบบ
- นำผลที่ได้จากการศึกษาไปรายงานกับผู้เกี่ยวข้อง ประสานงานกับฝ่ายต่างๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป หรือเก็บไว้เป็นองค์ความรู้ของหน่วยงาน สำหรับการเผยแพร่ให้กับบุคลภายนอกหรือมอบให้องค์กรอื่น
- ดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการที่วางไว้ และกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมกับกิจกรรม
- นำผลการดำเนินงานรายงานแก่ผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชา เพื่อปรับปรุง พัฒนาและแผนการจัดการและการอนุรักษ์ป่าไม้ในครั้งต่อไป
👩🏻💻 อาชีพที่ต้องทำงานร่วมกัน
- ผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชาในหน่วยงาน
- เจ้าหน้าที่ภาครัฐในหน่วยงานอื่น ๆ
- ผู้พิทักษ์ป่า
🏢 สถานที่และเวลาทำงาน
ในสายงานราชการ
- ทำงานในสำนักงานต่างๆ ภายใต้สังกัดของกรมป่าไม้ เช่น สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ สำนักจัดการป่าชุมชน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งมีทั้งหมด 13 เขตทั่วประเทศไทย และสำนักวิจัยและพัฒนาป่าไม้ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า
- ทำงานในออฟฟิศของสำนักงาน อาจต้องลงพื้นที่ ไปทำงานนอกสถานที่เพื่อการสำรวจหรือวิจัยตามความต้องการ
- ทำงานในวันเวลาราชการ จันทร์ - ศุกร์ เวลา 8.30-17.30 น. และหยุดทุกเสาร์-อาทิตย์ และนักขัตฤกษ์
ในสายงานเอกชน
- ทำงานในบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรป่าไม้ เช่น บริษัทส่งออก เพาะพันธุ์ไม้ บริษัทวิจัยไม้เพื่อการแปรรูป รวมถึงการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย
- ทำงานตามวันเวลาที่บริษัทกำหนด โดยตามกฎหมายแรงงานคือ ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งอาจมีการทำงานล่วงเวลา โดยได้ค่าแรงเพิ่มตามนโยบายของบริษัท
✅ ความรู้ความสามารถที่ต้องใช้
- ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ เช่น วิทยาศาสตร์ป่าไม้ (พันธุศาสตร์ ชีววิทยา ฯลฯ) ภูมิศาสตร์ การดูแลจัดการทรัพยากรป่าไม้ กฎหมายป่าไม้ การอ่านภาพถ่ายทางอากาศ เป็นต้น
- ทักษะในการทำวิจัย ศึกษาค้นคว้าข้อมูล และเก็บรวบนวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ
- ทักษะการคิดวิเคราะห์ แปลผลข้อมูลที่ได้จากการศึกษา
- ทักษะการสื่อสาร เพื่อประสานงานกับคนในองค์กร รวมถึงสื่อสารกับบุคคลภายนอกในรูปแบบต่างๆ เช่น เขียนบทความ เป็นวิทยากร เป็นต้น
- มีร่างกายที่แข็งแรง และปรับตัวได้ดี เพราะต้องลงพื้นที่ เพื่อศึกษาป่าไม้ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งอาจต้องเดินทางไกล ในสภาพแวดล้อมแตกต่าง
💵 โอกาส ความท้าทาย และผลตอบแทน
- ผลตอบแทนเริ่มต้น 18,000 บาทต่อเดือน สำหรับนักวิชาการป่าไม้ระดับปฎิบัติการ และค่อยๆ ปรับตามการเติบโตในสายงาน และในระดับสูงสุดคือระดับทรงคุณวุฒิ อยู่ที่ 76,800 บาท มีสวัสดิการตามที่ระเบียบข้าราชการพลเรือนกำหนด
- สำหรับสายงานเอกชน เงินเดือนขึ้นอยู่กับขนาดของบริษัทและความเชี่ยวชาญของงาน โดยเริ่มตั้งแต่ 18,000 ขึ้นไป สวัสดิการขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัท
- มีโอกาสสมัครสอบและบรรจุเป็น นักวิชาการป่าไม้ ในสังกัดกรมป่าไม้ของประเทศไทยอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง ผ่านการประกาศรับสมัครของกรมป่าไม้ในตำแหน่ง ‘พนักงานราชการทั่วไป’ และ ‘ข้าราชการ’ (อ้างอิง https://forest.thaijobjob.com/ ) ซึ่งมีสวัสดิการและผลตอบแทนที่ต่างกัน นอกจากนี้ยังมีการจ้างเหมาบริการบุคคล (TOR) หรือจ้างแบบมีสัญญาจ้าง
- การเติบโตในอาชีพ (Career Path) ของ "นักวิชาการป่าไม้" ในงานราชการ มีเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพชัดเจน ตามหลักเกณฑ์การประเมินของหน่วยงานนั้นๆ โดยมีระดับการเติบโตในตำแหน่ง ดังนี้
- นักวิชาการป่าไม้ระดับปฏิบัติการ
- นักวิชาการป่าไม้ระดับชำนาญการ
- นักวิชาการป่าไม้ระดับชำนาญการพิเศษ
- นักวิชาการป่าไม้ระดับเชี่ยวชาญ
- นักวิชาการป่าไม้ระดับผู้ทรงคุณวุฒิ
- ความท้าทายและความเสี่ยงของอาชีพ
- มีการแข่งขันในการเข้าทำงานสูง เนื่องจากอยู่ในระบบราชการ และมักเปิดรับในอัตราน้อย
- ต้องมีความแม่นยำในการนำเสนอข้อมูล เพราะอาจส่งผลกระทบกับหน่วยงานและสิ่งแวดล้อมได้ หากมีการค้นคว้าวิจัยผิดพลาด
- ต้องสื่อสารกับกลุ่มอาชีพหลากหลาย เช่น เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้นำชุมชน เป็นต้น เกิดการปะทะและขัดแย้งได้ง่าย
- ต้องทำงานในสภาวะธรรมชาติที่แปรปรวน และสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย เช่น ทำงานกลางแจ้ง ลงพื้นที่ป่า ซึ่งอาจเจออันตรายจากแมลงและสัตว์ต่างๆ
🖥️ ช่องทางการศึกษาความรู้เพิ่มเติม
- YouTube ที่มีเนื้อหาแนะนำเกี่ยวกับ "นักวิชาการป่าไม้"
- TruePlookpanya Channel. (2020, May 14). I AM ฉัน(จะ)เป็น : นักวิชาการป่าไม้ [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=LePPDCo_q9A
- JSL Global Media. (2017, May 28). Perspective : วีรยา ผู้พิทักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง | Wonder women [28 พ.ค. 60] Full HD [Video]. YouTube.https://www.youtube.com/watch?v=oQ8iToD7r74
📚 ข้อมูลสายการเรียนที่เกี่ยวข้อง
มัธยมศึกษาตอนปลาย
- สายวิทย์-คณิต
- สายศิลป์-คำนวน *บางสถาบันรับสายนี้
- สายศิลป์-ภาษา *บางสถาบันรับสายนี้
- บางสถาบันไม่ระบุเงื่อนไขว่าจำเป็นต้องเรียนจบสายใด ขอเพียงมีวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า
ปริญญาตรี เช่น
- คณะวนศาสตร์ สาขาวิชาวนศาสตร์
- คณะวิทยาศาสตร์ สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาขาวิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- คณะทรัพยากรธรรมชาติ สาขาเกษตรศาสตร์
- คณะวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ปริญญาโท เช่น
- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวนศาสตร์
- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรป่าไม้
ปริญญาเอก เช่น
- หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวนศาสตร์
*ข้อมูล ณ ปี 2567
🌐 แหล่งอ้างอิง
- กรมป่าไม้: เว็บไซต์ของกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการป่าไม้และการอนุรักษ์ป่าไม้ในประเทศไทย สามารถเข้าชมได้ที่: https://www.forest.go.th/
- ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ | Facebook. https://www.facebook.com/frc.forest?locale=th_TH
- สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย https://thailand.wcs.org/th-th/
- สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (Bird Conservation Society of Thailand; BCST) https://www.bcst.or.th/th/
- mycareer-th. (n.d.). นักวิชาการด้านป่าไม้. https://www.mycareer-th.com/res_job_detail.php?id=67