
นิยามสั้นๆ
ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการดูแลและเลี้ยงสัตว์ในสวนสัตว์ ซึ่งหน้าที่ของพวกเขาส่วนใหญ่ คือ การให้อาหารและน้ำ, การทำความสะอา ดและดูแลสุขภาพของสัตว์ รวมถึงการจัดการกับการเจริญพันธุ์ของสัตว์ด้วย
📃 ลักษณะงาน
- จัดการดูแลและเลี้ยงสัตว์ในสวนสัตว์ เพื่อให้สัตว์มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตั้งแต่การจัดที่อยู่อาศัย การให้อาหาร การรักษาพยาบาล การกักกัน ขนย้ายสัตว์
- สังเกต ติดตามหรือทำการวิจัย ศึกษาสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมของสัตว์ที่อยู่ในสวนสัตว์ เพื่อให้สัตว์มีการเจริญเติบโตที่ดี เช่น สังเกตุอาการเจ็บป่วย การจับคู่ผสมพันธุ์สัตว์ในฤดูผสมพันธุ์ การทำความเข้าใจกิริยาท่าทางของสัตว์ รวมถึงการฝึกฝนสัตว์เพื่อการแสดง
- ออกแบบและบำรุงรักษาสวนสัตว์ จัดวางสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้เยี่ยมชมสวนสัตว์
📊 ขั้นตอนการทำงาน
ผู้ดูแลสวนสัตว์มีขั้นตอนการทำงานแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับขนาดและประเภทของสวนสัตว์ที่ทำงาน แต่มีขั้นตอนความรับผิดชอบทั่วไปร่วมกันดังนี้
- เริ่มต้นด้วยการตรวจสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของสัตว์ที่อยู่ในความดูแล ซึ่งอาจรวมถึงการตรวจด้วยสายตา การติดตามสัญญาณชีพ และการให้ยาหรือการรักษาตามความจำเป็น
- เตรียมและแจกจ่ายอาหารและยาที่เหมาะสมให้กับสัตว์แต่ละตัว เพื่อให้สัตว์ได้รับโภชนาการที่เหมาะสม
- ทำความสะอาดกรงสัตว์เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมให้สะอาดและปลอดภัย รวมถึงการขจัดของเสีย ทำความสะอาดจานอาหาร และจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้สัตว์ดำรงชีวิตได้ เช่น ลาดหญ้าเพื่อสัตว์นอน วางกิ่งไม้ รวมถึงเตรียมของเล่น หรือวัตถุแปลกใหม่เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์
- ระหว่างวันที่ดูแลสัตว์จะต้องคอยบันทึกพฤติกรรมของสัตว์ สังเกตสุขภาพ และการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นกับสัตว์
- ผู้ดูแลสวนสัตว์ที่ต้องศึกษาวิจัย พฤติกรรมสัตว์ ทำโครงการเกี่ยวกับสัตว์ หรือฝึกซ้อมสัตว์เพื่อทำการแสดงจะใช้เวลาหลังจากดูแลสัตว์เรียบร้อยแล้วเพื่อทำงานส่วนนี้
- ในช่วงเวลาก่อนเลิกงาน ผู้ดูแลสวนสัตว์จะทำการตรวจสอบสัตว์เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อให้แน่ใจว่ามีอาหารและน้ำเพียงพอสำหรับกลางคืน และตรวจสอบที่อยู่อาศัยของสัตว์ให้มีความปลอดภัยในเวลากลางคืน
👩🏻💻 อาชีพที่ต้องทำงานร่วมกัน
- พนักงานบริการลูกค้าในสวนสัตว์ (Customer Service Officer)
- ช่างซ่อมบำรุงอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการดูแลสัตว์ (Maintenance technician)
- สัตวแพทย์ประจำสวนสัตว์ (Zoo Veterinarian)
- ผู้จัดการสวนสัตว์ (zoo manager)
- ผู้อำนวยการสวนสัตว์ (Zoo directors)
🏢 สถานที่และเวลาทำงาน
- ทำงานในสวนสัตว์ หรือพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ทั้งสังกัดเอกชนและรัฐบาล
- โดยทั่วไปสวนสัตว์จะเปิดทำการ เวลา 08.00 - 17.00 น. ผู้ดูแลสวนสัตว์จะต้องเข้ามาทำงานก่อนเวลาเปิดสวนสัตว์ และหลังเวลาปิดทำการ ซึ่งมีรูปแบบการทำงานเป็นกะ เช่น ช่วงเช้า, ช่วงบ่าย, ช่วงเย็น หรือช่วงดึก เพราะสัตว์บางชนิดใช้ชีวิตกลางคืน
- สวนสัตว์มักเปิดตลอดสัปดาห์ ผู้ดูแลสวนสัตว์จึงได้ทำงานในช่วงวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับนโยบายและข้อกำหนดของแต่ละสวนสัตว์
✅ ความรู้ความสามารถที่ต้องใช้
- ความรู้เกี่ยวกับการจัดการสัตว์ในสวนสัตว์ ตั้งแต่ชนิดของสัตว์ การจัดที่อยู่อาศัย ตลอดจนการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการดูแลและเลี้ยงสัตว์
- ทักษะการสังเกต เพื่อดูพฤติกรรมสัตว์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนตรวจสอบความเรียบร้อยของสวนสัตว์และผู้เยี่ยมชม
- ทักษะการรวบรวมข้อมูล ผู้ดูแลสวนสัตว์ต้องอยู่กับการเก็บรวบรวมข้อมูล จดบันทึก ข้อมูลต่างๆของสัตว์ เช่น พฤติกรรมสัตว์ ปริมาณอาหารและน้ำที่สัตว์กิน ลักษณะของอุจจาระ เป็นต้น
- ทักษะการคิดวิเคราะห์ สันนิษฐานอาการ วิเคราะห์พฤติกรรมของสัตว์ที่เกิดขึ้น เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของสัตว์
- ทักษะการจัดการอารมณ์ เพราะต้องเผชิญกับสัตว์ที่มีพฤติกรรมรุนแรง ดุ ในบางครั้ง หรืออาจเจอกับภาวะสัตว์ป่วย บาดเจ็บหรือตาย ซึ่งอาจสร้างความสะเทือนใจให้ผู้ดูแลได้ จึงต้องมีทักษะการจัดการอารมณ์ที่ดี
- มีร่างกายแข็งแรง และอดทน การดูแลสวนสัตว์ต้องอาศัยแรงกายในการดูแลสัตว์ ทั้งการทำความสะอาด เคลื่อนย้ายสัตว์และที่อยู่ การให้อาหาร การอยู่ในพื้นที่แคบๆ เป็นระยะเวลานาน หรือการเฝ้าดูพฤติกรรมสัตว์ในระยะเวลานาน
- แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ การทำงานกับสัตว์อาจเผชิญกับสัตว์หลุดออกจากกรง สัตว์ตื่นตกใจ พฤติกรรมที่ก้าวร้าว หรือผู้เยี่ยมชมทำร้ายสัตว์ ผู้ดูแลสวนสัตว์ต้องมีวิธีรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นได้
- ทักษะการทำงานเป็นทีม เพื่อประสานงานกับฝ่ายอื่นๆ เพื่อให้การดูแลสัตว์เป็นไปอย่างเรียบร้อย
💵 โอกาส ความท้าทาย และผลตอบแทน
- ผลตอบแทนของอาชีพเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 18,000 - 25,000 บาทต่อเดือน โดยเงินเดือนอาจขึ้นอยู่กับสถานที่ทำงาน ประสบการณ์และความสามารถของผู้ทำงาน
- การเติบโตในสายอาชีพ (Career Path) ของเจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์ในสวนสัตว์ สามารถเติบโตไปยังตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ตามประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ดังนี้
- เจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์
- หัวหน้าเจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์
- ผู้ดูแลสวนสัตว์บางคนอาจใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะไปเติบโตในสายงานใกล้เคียง เช่น เป็นนักวิจัยสัตว์ เป็นผู้เชี่ยวชาญสัตว์ชนิดนั้นๆ นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ หรือ เป็นผู้บริหารสวนสัตว์
- ความยากและท้าทายของอาชีพ คือการสื่อสารและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์ โดยต้องอาศัยการสังเกต ค้นคว้า และเรียนรู้อยู่เสมอ เพราะไม่สามารถสื่อสารกับสัตว์ผ่านการพูดคุยได้
- ความเสี่ยงของอาชีพคือสภาพแวดล้อมการทำงาน ที่อาจอยู่ภายนอกอาคารหรือกลางแจ้ง ในกรณีสวนสัตว์เปิด ซึ่งอาจเจอสภาพอากาศทั้งร้อนและฝน นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกสัตว์ทำร้ายหรือติดเชื้อจากสัตว์
🖥️ ช่องทางการศึกษาความรู้เพิ่มเติม
สามารถเข้าชมเว็บไซต์ต่อไปนี้เพื่อศึกษาความรู้เพิ่มเติ่มในอาชีพเจ้าหน้าดูแลสัตว์ในสวนสัตว์ได้
- เว็บไซต์ของสมาคมผู้จัดการสวนสัตว์แห่งประเทศไทย: http://www.zoothailand.org/
- เว็บไซต์ของสวนสัตว์ไทยแลนด์: https://www.thailandzoo.com/
- รายการกบนอกกะลา ตอน Zoo Keeper https://www.youtube.com/watch?v=R8kWq4f2yGc
- Youtube ช่อง IPST Channel ทูตสะเต็ม ตอน เส้นทางสู่นักดูแลสัตว์ https://www.youtube.com/watch?v=vjvefxPoXcc
📚 ข้อมูลสายการเรียนที่เกี่ยวข้อง
มัธยมศึกษาตอนปลาย
- สายวิทย์-คณิต *บางสถาบันรับสายนี้
- สายศิลป์-คำนวณ
- สายศิลป์-ภาษา
- ปวช. หรือเทียบเท่า
ปริญญาตรี เช่น
- คณะเกษตรศาสตร์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์
- คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร สาขาวิชาสัตวศาสตร์
- คณะเกษตรศาสตร์ สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ วิชาเอกสัตวศาสตร์
- คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน สาขาวิชาสัตวศาสตร์
- สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสัตว์
- คณะเกษตรและเทคโนโลยี สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร แขนงวิชาสัตวศาสตร์
- คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาขาวิชาสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารสัตว์
ปริญญาโท เช่น
จบ ป.ตรีคณะวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการเกษตรหรือสัตว์ หรือจบ ป.ตรีสาขาทุกสาขา แต่ต้องศึกษาเกี่ยวกับการดูแลสัตว์เพิ่มเติม
- คณะเกษตร วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาโภชนศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารสัตว์
- คณะเกษตรศาสตร์ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาสัตวศาสตร์
- คณะเกษตรศาสตร์ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาสัตวศาสตร์
- สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสัตว์
- คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาสัตวศาสตร์
- คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาสัตวศาสตร์
- คณะทรัพยากรธรรมชาติ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสัตวศาสตร์
- คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี
ปริญญาเอก เช่น
- คณะเกษตร ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาโภชนศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารสัตว์
- คณะเกษตรศาสตร์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสัตวศาสตร์
- สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสัตว์
- คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสัตวศาสตร์
*ข้อมูล ณ ปี 2567
🌐 แหล่งอ้างอิง
- สถาบันการศึกษาป้องกันระบบนิเวศและการดำเนินการทางกฎหมาย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์: https://www.dld.go.th/th/know/19985
- สภาวิชาชีพสัตวแพทย์แห่งประเทศไทย: https://www.thaivma.org/
- สมาคมเจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์ในสวนสัตว์แห่งประเทศไทย: https://zoothailand.net/
- โครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสวนสัตว์และสวนน้ำในประเทศไทย: http://www.wildlifeprojects.org/
ศูนย์ฝึกอบรมและศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ป่าและสวนสัตว์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์: https://www.wildlifetraining.com/