
นิยามสั้นๆ
ผู้ศึกษาและวิจัยนโยบายสาธารณะ (Public policy) เพื่อนำมาพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
📃 ลักษณะงาน
- ติดตามและศึกษา ผลการดำเนินนโยบายที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยกระบวนการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อประเมินผลนโยบาย ถอดบทเรียนปัจจัยความสำเร็จ และอุปสรรคที่เกิดขึ้น
- พัฒนางานวิจัยและองค์ความรู้ ในด้านนโยบายสาธารณะ เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาครัฐ เช่น รัฐบาล กระทรวงต่าง ๆ และหน่วยงานภายในกระทรวง
📊 ขั้นตอนการทำงาน
- กำหนดวัตถุประสงค์การวิจัย (Research objectives) และตั้งคำถามการวิจัย สมมุติฐาน ซึ่งอาจมาจากปัญหาเชิงนโยบาย ปัญหาสังคม โจทย์ของผู้ให้ทุนวิจัยหรือการหาแนวคิดนโยบายใหม่ ๆ เช่น ธุรกิจประเภทใดได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ?
- ทบทวนวรรณกรรม (Literature review) โดยรวบรวมเอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์ว่าประเด็นดังกล่าว มีใครได้ทำการศึกษาไปแล้วบ้าง ผลเป็นอย่างไร ยังมีช่องว่างอะไรที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม
- ออกแบบกระบวนการวิจัย (Research framework) โดยวางกระบวนการวิจัย เครื่องมือการวิจัยที่เหมาะสม และข้อมูลที่ต้องใช้ในการตอบโจทย์การวิจัย
- รวบรวมข้อมูล (Data collection) เพื่อนำมาใช้ในการวิจัย โดยแบ่งเป็น ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary data) คือรวบรวมผ่านการพัฒนาแบบสอบถาม ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากหน้างานจริง และข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary) คือการรวบรวมจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ก่อน
- วิเคราะห์ข้อมูล (Data analysis) โดยใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับลักษณะของข้อมูล เพื่อตอบคำถามการวิจัย
- พัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (Policy recommendations) โดยนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลข้างต้นมาพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย
- สื่อสารและขับเคลื่อนนโยบาย (Policy advocacy) เช่น รายงานทางโทรทัศน์ เว็บไซต์ข่าว บทความวารสารวิชาการ และการจัดสัมมนาสาธารณะสำหรับผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
👩🏻💻 อาชีพที่ต้องทำงานร่วมกัน
- นักการเมือง
- นักเศรษฐศาสตร์
- นักวิเคราะห์ข้อมูล
- นักวิชาการ
- นักสื่อสารมวลชน
- นักสังคมศาสตร์
🏢 สถานที่และเวลาทำงาน
- สถานที่ทำงาน นักวิจัยนโยบายสาธารณะจะทำงานในหน่วยงานเกี่ยวข้องกับทำงานเชิงนโยบาย หรือ พัฒนาองค์ความรู้ในด้านนั้น เช่น สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ มูลนิธิ องค์กรระหว่างประเทศ ฯลฯ
- เวลาทำงาน โดยส่วนใหญ่มักทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่ 8.30 - 16.30 น.
- อาจต้องทำล่วงเวลาในกรณีที่ต้องปิดเล่มวิจัย หรืออาจจะต้องเข้าร่วมงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารนโยบาย เช่น การเข้าร่วมงานสัมมนา ซึ่งอาจจัดขึ้นนอกเวลางาน
✅ ความรู้ความสามารถที่ต้องใช้
- ความรู้ในนโยบายและการบริหารงานของภาครัฐด้านนั้น ๆ เช่น ทำวิจัยด้านนโยบายการศึกษา ควรมีความรู้เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แนวคิดการพัฒนาการศึกษา หรือสถานการณ์ด้านการศึกษาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
- ความรู้ในเครื่องมือเชิงเทคนิคในการวิจัยนโยบายสาธารณะ เช่น เครื่องมือทางสถิติ/ เศรษฐมิติ (Econometrics) การประเมินผลนโยบาย (Policy evaluation) การประเมินความคุ้มค่านโยบาย (Cost-benefit analysis) เป็นต้น
- ทักษะการวิจัยพื้นฐาน เริ่มตั้งแต่การกำหนดกระบวนการวิจัย การทบทวนวรรณกรรม การพัฒนาเครื่องมือรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการบริหารโครงการวิจัย
- มีทัศนคติรักในการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง พร้อมเปิดรับข้อมูล แนวคิดใหม่ ๆ เพื่อนำมาพัฒนาองค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ
💵 โอกาส ความท้าทาย และผลตอบแทน
- ผลตอบแทน: เริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 21,000 บาท ต่อเดือน สำหรับระดับการศึกษาปริญญาตรี และเริ่มต้น 24,000 บาท ต่อเดือน สำหรับระดับการศึกษาปริญญาโท
- มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคม สามารถช่วยพัฒนานโยบายที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง เช่น นโยบายด้านการศึกษา สาธารณสุข หรือสิ่งแวดล้อม
- โอกาสและการเติบโตของอาชีพนักวิจัยนโยบายสาธารณะ
- เป็นนักวิจัยอาวุโส และทำงานได้หลายหน่วยงาน เช่น สถาบันวิจัย สถาบันอุดมศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาให้องค์กรภาคเอกชนที่ต้องทำงานกับภาครัฐ เป็นต้น
- เป็นผู้บริหารโครงการวิจัย จากการเขียนโครงการและรับทุนพัฒนาโครงการเอง
- เป็นผู้บริหารสถาบันวิจัย หากมีผลงานที่โดดเด่นและสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ หรือจากการแต่งตั้งของคณะกรรมการต่างๆ
- เติบโตในสายงานระหว่างประเทศ อาจได้รับโอกาสทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ (UN) หรือธนาคารโลก (World Bank)
- ความท้าทายของอาชีพนักวิจัยนโยบายสาธารณะ
- สถานการณ์ทางการเมืองที่มีความเปลี่ยนแปลง อาจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย และทำให้การทำงานในบทบาทนักวิจัยหรือประเด็นในการทำงานมีความยากลำบากขึ้น
- ความท้าทายในเรื่องการหาทุนวิจัย บางครั้งนักวิจัยอาจไม่สามารถกำหนดประเด็นวิจัยได้ตามความต้องการหรือความจำเป็น ต้องขึ้นอยู่กับประเด็นความสนใจของผู้ให้ทุนด้วย
- ข้อจำกัดด้านทรัพยากร บางครั้งงานวิจัยอาจประสบปัญหาด้านงบประมาณ เวลา และกำลังคน
🖥️ ช่องทางการศึกษาความรู้เพิ่มเติม
- ช่องทาง Facebook ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพนักวิจัยนโยบายสาธารณะ
- เพจ Facebook "Thailand Development Research Institute (TDRI)" (n.d.) https://www.facebook.com/tdri.thailand
- หน่วยงานที่มีการทำงานวิจัยนโยบายสาธารณะ
- สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute) https://tdri.or.th/
- สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ https://www.pier.or.th/
- สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) https://ippd.or.th/
101 Pub https://101pub.org/
🌐 แหล่งอ้างอิง
- พี่ต้นแบบอาชีพนักวิจัยนโยบายสาธารณะ [สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2567]