
นิยามสั้นๆ
ผู้ที่ทำหน้าที่ผสมและบริการเครื่องดื่มตามที่ลูกค้าสั่งในบาร์หรือร้านอาหารที่มีการบริการเครื่องดื่ม
📃 ลักษณะงาน
- รับออเดอร์ ผสมและบริการเครื่องดื่มตามที่ลูกค้าสั่งหรือตามสูตรที่กำหนดไว้
- แนะนำเมนูเครื่องดื่มที่น่าสนใจให้กับลูกค้าที่มาบริการ
- คิดค้น พัฒนา ปรับปรุงสูตรเครื่องดื่มใหม่ๆ สำหรับให้บริการ
- ดูแลความสะอาดและเรียบร้อยของพื้นที่บริการ
- ตรวจสอบวัตถุดิบและจัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมบริการลูกค้าในแต่ละวัน
📊 ขั้นตอนการทำงาน
- ตรวจสอบและคำนวณจำนวนอุปกรณ์และวัตถุดิบที่ต้องใช้ทำเครื่องดื่มก่อนร้านเปิด เช่น เครื่องดื่มแอลกฮอล์ น้ำแข็ง น้ำเชื่อมกลิ่นต่างๆ ผลไม้ ฯลฯ
- ตรวจเช็คความเรียบร้อยและความสะอาดของอุปกรณ์ให้พร้อมเปิดร้าน เช่น แก้วสำหรับเสิร์ฟเครื่องดื่ม หลอด ที่รองแก้ว ความสะอาดของถังเก็บแอลกฮอล์ เป็นต้น
- ต้อนรับลูกค้าที่เข้ามาในร้าน พูดคุยแนะนำเมนูเครื่องดื่มที่น่าสนใจ
- รับออเดอร์จากลูกค้าและผสมเครื่องดื่มตามสูตรของร้าน หรือตามที่ลูกค้าร้องขอ
- เสิร์ฟเครื่องดื่มให้แก่ลูกค้าด้วยความสะอาดและสวยงาม
- ดูแลความสะอาดเรียบร้อยของพื้นที่บริการ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ เมื่อเก็บร้าน
👩🏻💻 อาชีพที่ต้องทำงานร่วมกัน
- ผู้จัดการร้านอาหาร (Manager)
- พนักงานเสิร์ฟ (Waiter/Waitress)
- ผู้ดูแลระบบเครื่องดื่ม (Beverage System Technician)
🏢 สถานที่และเวลาทำงาน
- ทำงานได้ทั้งในสถานที่ คือตามสถานบันเทิง และร้านอาหารที่บริการเครื่องดื่มแอลกฮอล์ และงานภายนอกสถานที่ เช่น ประจำบาร์เครื่องดื่มในงานอีเวนต์ งานจัดเลี้ยงต่างๆ เป็นต้น
- เวลาทำงานจะขึ้นอยู่กับร้านที่ประจำ เช่น สถานบันเทิงหรือร้านอาหารที่เปิดในช่วงเวลาเย็น-กลางคืน หรือทำงานในร้านอาหารที่เปิดช่วงกลางวัน
✅ ความรู้ความสามารถที่ต้องใช้
- มีทักษะในการผสมเครื่องดื่มต่าง ๆ เช่น การผสมเครื่องดื่มคอกเทล, ม็อกเทล, เบียร์, ฯลฯ
- รักในการให้บริการลูกค้า
- มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถพลิกแพลง คิดค้นสูตรเครื่องดื่มใหม่ๆ ได้
- มีทักษะการบริหารจัดการทรัพยากร สำหรับดูแลเรื่องการสต็อกเครื่องดื่มและอุปกรณ์ เช่น การตรวจสอบสต็อก การสั่งซื้อวัตถุดิบ, การคำนวณต้นทุน ฯลฯ
- ความรู้ในการใช้และดูแลรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำเครื่องดื่ม
- มีทักษะการจัดการบัญชีเบื้องต้น เช่น การตรวจสอบใบเสร็จรับเงินและการจัดทำรายงานการขายหลังปิดร้าน
- มีความจำดี สามารถจำส่วนผสมเครื่องดื่มได้อย่างแม่นยำ
- สามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศได้ เพราะอาจต้องต้อนรับลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติ
💵 โอกาส ความท้าทาย และผลตอบแทน
- ผลตอบแทนเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 15,000 - 30,000 บาทต่อเดือน โดยเงินเดือนอาจขึ้นอยู่กับสถานที่ทำงาน เช่น มีที่ตั้งอยู่ในโซนท่องเที่ยวยอดนิยม ในโรงแรมหรู นอกจากนี้เงินเดือนยังขึ้นอยู่กับ ประสบการณ์ ชื่อเสียง และรางวัลที่เคยได้รับอีกด้วย
- การเติบโตในอาชีพ (Career Path) ของบาร์เทนเดอร์สามารถเติบโตไปยังตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ตามประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ดังนี้
- ผู้ช่วยบาร์เทนเดอร์ (Barback): เป็นตำแหน่งเริ่มต้นของอาชีพ ใช้เวลาฝึกหัดและเรียนรู้วิธีการทำงานในบาร์เครื่องดื่ม ทำหน้าที่ช่วยบาร์เทนเดอร์ต่าง ๆ เช่น ทำเครื่องดื่มพื้นฐาน, ส่งเครื่องดื่มให้ลูกค้า, และควบคุมคลังสินค้าบาร์
- บาร์เทนเดอร์ (Bartender): เป็นตำแหน่งที่สูงขึ้นหลังจากผ่านการฝึกหัดและมีประสบการณ์พอสมควร หน้าที่หลักคือการทำเครื่องดื่มและบริการลูกค้าในบาร์ รวมถึงการจัดการคลังสินค้าและความปลอดภัยในพื้นที่บาร์
- ผู้จัดการบาร์ (Bar Manager): เป็นตำแหน่งสูงสุดในสายงานบาร์ มีหน้าที่ในการวางแผนและดูแลการจัดการบาร์ทั้งหมด รวมถึงการจัดการค่าใช้จ่ายและส่วนต่าง ๆ เช่น การจัดซื้อเครื่องดื่มและอุปกรณ์ในบาร์, การจัดการบุคลากรในบาร์, และการพัฒนาบาร์
- ความสามารถของบาร์เทนเดอร์อาจไม่ได้เป็นที่รู้จักเพราะรสชาติเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ลีลาท่าทางในการชงที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ลูกค้าจดจำได้ หลายคนจึงต้องฝึกฝนลีลาท่าทางชงเครื่องดื่มไปกับการรักษาคุณภาพของรสชาติ
- ความท้าทายของบาร์เทนเดอร์ คือ ต้องหมั่นเรียนรู้ทักษะ เทคนิคการทำเครื่องดื่ม และสูตรใหม่ๆ ในการสร้างเครื่องดื่มให้ลูกค้าชื่นชอบ
- ปัจจุบันมีการจัดประกวดแข่งขันบาร์เทนเดอร์อยู่บ่อยครั้ง มีการแข่งขันสูงซึ่งรางวัลที่ได้รับจะส่งผลต่อชื่อเสียงในวงการและการประสบความสำเร็จในงาน
- สิ่งที่เป็นความเสี่ยงของอาชีพนี้คือ
- สุขภาพ เพราะเป็นการทำงานที่ต้องยืนเป็นหลัก อาจส่งผลต่อกล้ามเนื้อขา เกิดเส้นเลือดขอดได้
- ด้วยการทำงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ทำให้คนเป็นบาร์เทนเดอร์ มีช่วงเวลาในการทำงานที่อาจแตกต่างจากคนอื่น เช่น ต้องทำงานตอนกลางคืนจนถึงดึก วันหยุดหรือช่วงเทศกาลต้องพร้อมสำหรับการทำงาน ไม่ได้หยุดพัก
- การทำงานของบาร์เทนเดอร์ที่ต้องคอยบริการเครื่องดื่มแอลฮอล์ ทำให้ต้องเผชิญกับลูกค้าที่อาจอยู่ในภาวะมึนเมา รวมถึงสารเสพติดต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
🖥️ ช่องทางการศึกษาความรู้เพิ่มเติม
- สามารถเข้าชมเว็บไซต์และช่อง Youtube ต่อไปนี้เพื่อศึกษาความรู้เพิ่มเติ่มในอาชีพบาร์เทนเดอร์ได้
- The Educated Barfly: โรงเรียนฝึกสอนบาร์เทนเดอร์ชั้นนำของโลก https://www.barschool.net/th/blog
- 9 Steps พิชิตเงินล้านด้วยอาชีพบาร์เทนเดอร์ที่ต่างแดน จากมือใหม่ สู่มืออาชีพ จากศูนย์บาท สู่ ล้านบาท https://youtu.be/C3AsOMSiPtI
- อาชีพบาร์เทนเดอร์ ทำงานแค่ผสมเครื่องดื่มอย่างเดียวเหรอ? | BOLD JOB EP07 The MATTER https://www.youtube.com/watch?v=QDRMmrHoA0c
- คณะและมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมเกี่ยวกับ "บาร์เทนเดอร์"
-คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- คณะอุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
-วิทยาลัยฮอสปิตอลลิตี้ มหาวิทยาลัยรังสิต
- คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจการท่องเที่ยวมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาการท่องเที่ยวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา
- คณะพัฒนาการท่องเที่ยว สาขาวิชาพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้
- เข้าคอร์สสอนการชงเครื่องดื่มจากสถาบันด้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีใบประกาศนียบัตร รับรอง เช่น สถาบัน Le Cordon Bleu สถาบันดุสิตธานี สถาบัน Thailand Bartending School เป็นต้น
🌐 แหล่งอ้างอิง
คณะกรรมการการส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงาน. (2553). มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาอาชีพ พนักงานผสมเครื่องดื่ม. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการการส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงาน.