
นิยามสั้นๆ
ผู้สร้างพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมในบริเวณชุมชนด้วยไอเดีย ความต้องการ และการลงแรงของคนในชุมชนเอง
📃 ลักษณะงาน
อยู่ในรูปแบบของการลงพื้นที่ คุยกับคนในชุมชน ประสานชุมชน เพราะเป็นโครงการที่จะสัมพันธ์กับชุมชนเป็นหลัก โดยการลงชุมชนจะมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การเดินเข้าไปพูดคุยตามบ้าน การประชุมกลุ่มย่อย การจัดเวทีสาธารณะ เป็นต้น
📊 ขั้นตอนการทำงาน
- ออกแบบและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น บ้านเรือน ถนน ร่วมกับคนในชุมชน
- เก็บข้อมูลเบื้องต้นเพื่อนำมาวางแผนการออกแบบ เช่น จำนวนครัวเรือน สมาชิกในแต่ละครอบครัว ขนาดของบ้านเรือน อาชีพ รายได้ สภาพปัญหาในชุมชน
- ให้ความรู้และคำแนะนำเรื่องการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ที่มาร่วมทำการออกแบบ
- วางผังการก่อสร้างให้สอดคล้องกับการพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในชุมชน
- นำเสนอเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาในวิธีการต่างๆ ให้คนในชุมชนได้ร่วมออกแบบและสร้างสรรค์
👩🏻💻 อาชีพที่ต้องทำงานร่วมกัน
ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในประเด็นที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละงาน เช่น เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ดูแลผู้พิการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการขยะ เกษตร ฯลฯ โดยหากเป็นขั้นตอนการก่อสร้าง จะได้ทำงานกับวิศวกร (Engineer) ช่างรับเหมาก่อสร้าง (Contractor) เป็นต้น
🏢 สถานที่และเวลาทำงาน
- สถานที่ทำงาน คือ บริษัทที่รับงานด้านสถาปนิกชุมชน หรือองค์กรภาครัฐที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชุมชนและการพัฒนาชุมชน เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
- เวลาการทำงานของสถาปนิกชุมชนจะขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่ทำงาน หากเป็นหน่วยงานรัฐจะมีเวลาเข้า-ออกงานตามเวลาราชการ แต่ถ้าเป็นบริษัทเอกชนอาจจะมีการเข้างานที่ยืดหยุ่นกว่า นอกจากนี้ อาจมีตารางทำงานในช่วงเย็นของวันธรรมดาหรือในวันเสาร์ อาทิตย์ ตามตารางเวลาของคนในชุมชนที่เราทำงานด้วย
✅ ความรู้ความสามารถที่ต้องใช้
- มีทักษะพื้นฐานของสถาปนิก (การจัดการ, การออกแบบ, การคิดวิเคราะห์เป็นขั้นตอน ฯลฯ)
- เปิดรับ ไม่ด่วนตัดสิน มีความเคารพในตัวผู้อื่น
- มีทักษะในการสื่อสาร โดยเฉพาะการรับฟังและพูด
- ช่างสังเกต และจดจำรายละเอียดได้ดี
- มีทักษะการทำงานเป็นทีม
💵 โอกาส ความท้าทาย และผลตอบแทน
- โอกาสและเส้นทางการเติบโตของสถาปนิกชุมชน ในระบบการทำงานโครงการอาจจะเริ่มต้นจากการเป็นสถาปนิกชุมชนที่ช่วยรุ่นพี่ทำโครงการก่อน เมื่อสั่งมประสบการณ์มากขึ้นจะสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นสถาปนิกชุมชนที่รับผิดชอบการบริหารจัดการโครงการด้วยตัวเอง หากสังกัดหน่วยงานภาครัฐก็อาจสามารถเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเรื่อยๆ ในฐานะนักวิชาการชำนาญการระดับต่างๆ
- โอกาสการต่อยอดทางอาชีพ สถาปนิกชุมชนสามารถขยับไปเป็นนักพัฒนาชุมชน ผู้ประสานงาน หรือนักจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ เนื่องจากสถาปนิกชุมชนไม่ได้ใช้แค่ทักษะในการออกแบบ แต่ต้องอาศัยทักษะในการสื่อสาร การลงชุมชน การประสานงาน การจัดประชุม หรือการจัดกิจกรรมการอบรมด้วย
- คุณค่าที่อาชีพนี้มอบให้กับสังคม คือ การได้เห็นชุมชนและสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้นๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น รวมไปถึงวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่นั้นๆ ที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
- ผลตอบแทนสำหรับระดับจูเนียร์ที่สังกัดองค์กรที่ให้ผลตอบแทนเป็นเงินเดือน จะอยู่ในช่วงประมาณ 15,000 - 20,000 บาท
🖥️ ช่องทางการศึกษาความรู้เพิ่มเติม
- หนังสือชื่อ “สถาปนิก ชุมชน คน สถาปัตยกรรม” (ผู้เขียน สุพิชชา โตวิวิชญ์)
- http://communityarchitectsnetwork.info/ เว็บไซต์ที่รวบรวมผลงานของสถาปนิกชุมชนในระดับทวีปเอเชีย
- https://uttnext.com/ เว็บไซต์รวบรวมผลงานจากหลากหลายประเทศ
📚 ข้อมูลสายการเรียนที่เกี่ยวข้อง
มัธยมศึกษาตอนปลาย
- สายวิทย์-คณิต
- สายศิลป์-คำนวน
- สายศิลป์-ภาษา
ปริญญาตรี
- คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
- คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง สาขาการออกแบบพัฒนาชุมชนเมือง
ปริญญาโท
- หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบชุมชนเมือง
*ข้อมูล ณ ปี 2567
🌐 แหล่งอ้างอิง
- ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ พี่ต้นแบบอาชีพ ในกิจกรรม OPENWORLD ปี พ.ศ. 2558