ข้อมูลอาชีพนักออกแบบอาหาร

วันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2567 เวลา 07:15 • ใช้เวลาอ่าน 3 นาที
brunch food-pana.png

 

นิยามสั้นๆ

 

ผู้ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และศิลปะในการจัดแต่งอาหารให้ดูสวยงามและน่ารับประทานสำหรับการถ่ายภาพ วิดีโอ หรือนำเสนอในงานต่าง ๆ เพื่อสร้างความดึงดูดใจและความประทับใจแก่ผู้รับชม

 

📃 ลักษณะงาน
  • จัดวางและตกแต่งอาหารให้น่ารับประทานและดึงดูดสายตา เพื่อถ่ายภาพหรือวิดีโอ สำหรับใช้ในสื่อต่าง ๆ เช่น งานโฆษณา นิตยสาร เมนูอาหาร แค็ตตาล็อกสินค้า โซเชียลมีเดีย หรือรายการโทรทัศน์ 
  • กำหนดทิศทางการออกแบบหรือธีม (Theme) ของภาพถ่ายหรือวิดีโอ ทั้งสไตล์ภาพ องค์ประกอบภาพ  ธีมธรรมชาติ ธีมเอเชีย ธีมทะเล 
  • จัดเตรียมวัตถุดิบอาหารและอุปกรณ์ประกอบฉาก (Props)  สำหรับถ่ายทำ ที่เหมาะสมกับอาหารและธีม เพื่อสร้างภาพรวมที่สวยงามและตรงตามความต้องการของลูกค้า
  • ดูแลและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอาหารในระหว่างการถ่ายทำ 
📊 ขั้นตอนการทำงาน
  1. ระชุมรับโจทย์และวางแผนงาน ประชุมร่วมกับลูกค้าและทีมถ่ายทำ เพื่อทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้า หรือรายละเอียดงาน เช่น เป้าหมายของโปรเจกต์ ธีมงาน สไตล์ภาพ ลักษณะอาหาร และตกลงไอเดียการสื่อสาร รวมไปถึงระยะเวลาการทำงานและงบประมาณ เพื่อกำหนดทิศทางการออกแบบอาหาร 
  2. ออกแบบการนำเสนอ ออกแบบองค์ประกอบของอาหาร รวมถึงการจัดวางและการตกแต่งให้เหมาะสมกับธีมของงาน เลือกโทนสี การจัดจาน และอุปกรณ์ประกอบฉาก (Props) ที่ใช้ รวมไปถึงประเภทของรูปภาพ (Shot) ที่ต้องมี เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายของโปรเจกต์ โดยทำออกมาเป็นภาพร่างหรือไฟล์นำเสนอ (Presentation) ใช้สำหรับส่งให้ลูกค้าพิจารณาแก้ไขให้ตรงกับที่ต้องการมากที่สุด และใช้สำหรับอนุมัติให้เริ่มทำงาน 
  3. คัดเลือกวัตถุดิบและวัสดุอุปกรณ์ คัดเลือกวัตถุดิบอาหารที่สดใหม่ หรือเหมาะสมสำหรับการถ่ายทำ หรือจัดแสดง รวมทั้งจัดหาวัตถุดิบทดแทนและเตรียมวัสดุเสริม เช่น น้ำมัน สเปรย์เงา หรือสีอาหาร เพื่อทำให้อาหารดูสวยงามและน่ารับประทาน
  4. จัดวางอาหารและอุปกรณ์ประกอบฉาก  จัดวางอาหาร ปรุงแต่งอาหารตามแบบที่วางไว้ โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความสมจริง ความสวยงามและการดึงดูดสายตา วางอุปกรณ์ประกอบฉากและองค์ประกอบอื่น ๆ ให้ลงตัว
  5. ทำงานร่วมกับทีมงานถ่ายทำ ประสานงานกับช่างภาพและผู้กำกับเพื่อกำหนดมุมกล้อง แสง สี และองค์ประกอบในภาพ ปรับแต่งอาหารและอุปกรณ์ประกอบฉากในขณะถ่ายทำ เพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์แบบที่สุด
  6. แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างถ่ายทำ เช่น อาหารเปลี่ยนสีหรือเสียรูปทรง ใช้เทคนิคเสริม เช่น การใช้วัสดุทดแทนเพื่อสร้างภาพที่ต้องการ
  7. ตรวจสอบและปรับปรุงงานในขั้นสุดท้าย ตรวจสอบภาพหรือวิดีโอที่ได้จากการถ่ายทำ เพื่อดูว่าอาหารที่นำเสนอตรงกับความต้องการของลูกค้าหรือไม่ ปรับแก้ไขเพิ่มเติมหากยังไม่ตรงตามเป้าหมาย
  8. ส่งมอบงาน ส่งมอบภาพหรือวิดีโอที่สมบูรณ์ให้กับลูกค้า พร้อมรับข้อเสนอแนะสำหรับการทำงานในอนาคต
👩🏻‍💻 อาชีพที่ต้องทำงานร่วมกัน
  1. ช่างภาพอาหาร
  2. ผู้กำกับศิลป์
  3. นักออกแบบกราฟิก
  4. ครีเอทีฟโฆษณา (Creative)
  5. เชฟหรือผู้ปรุงอาหาร
  6. ผู้ผลิตวิดีโอ
  7. นักเขียนคอนเทนต์ด้านอาหาร
  8. เจ้าของแบรนด์หรือผู้จัดการผลิตภัณฑ์
  9. ผู้จัดงานอีเวนต์
  10. นักโภชนาการ
🏢 สถานที่และเวลาทำงาน
  • สถานที่ทำงาน  นักออกแบบอาหารทำงานในสถานที่ที่หลากหลาย โดยขึ้นอยู่กับประเภทของโปรเจกต์และความต้องการของลูกค้า โดยแบ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำและสถานที่สำหรับงานประชุมและวางแผนงาน
    • สถานที่สำหรับถ่ายทำผลงาน เช่น สตูดิโอถ่ายภาพอาหาร สถานที่ถ่ายทำโฆษณา ร้านอาหารหรือโรงแรม งานอีเวนต์หรืองานจัดแสดงอาหาร ห้องครัวเชิงพาณิชย์หรือห้องครัวสตูดิโอ กองถ่ายภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์ โรงงานผลิตอาหารหรือบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภค 
    • สถานที่สำหรับงานประชุมและวางแผนงาน เช่น ออฟฟิศบริษัทโฆษณาและการตลาด ออฟฟิศผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และดิจิทัลด้านอาหารกรณีเป็นพนักงานประจำ หรือที่บ้านกรณีเป็นนักออกแบบอาหารอิสระ (Freelance) 
  • เวลาทำงาน นักออกแบบอาหารที่เป็นพนักงานประจำ มีวันและเวลาทำงานตามปกติ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 - 17.00 น. หรือตามข้อกำหนดของบริษัท
  • นักออกแบบอาหารอิสระ จะมีเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นและขึ้นอยู่กับลักษณะงาน โดยติดต่อกับลูกค้าในเวลาทำงานปกติ และจัดการเวลาสำหรับงานอื่น ๆ ได้ด้วยตนเอง
  • ในช่วงที่ต้องทำงานในกองถ่ายภาพยนตร์ โฆษณา หรืออีเวนต์ เวลาทำงานจะขึ้นอยู่กับตารางถ่ายทำ เช่น อาจเริ่มงานตั้งแต่เช้าและทำงานจนกว่าถ่ายทำเสร็จ ต้องปรับตัวให้เข้าความไม่แน่นอนของเวลา เนื่องจากมีการแก้ไขหน้างานหรือต้องขยายเวลาในการถ่ายทำ
✅ ความรู้ความสามารถที่ต้องใช้
  1. ความรู้ด้านศิลปะและทักษะด้านการออกแบบองค์ประกอบภาพ
  2. ความคิดสร้างสรรค์ในการจัดแต่งและนำเสนออาหารให้ดูน่าสนใจ
  3. ความรู้เกี่ยวกับอาหาร การเลือกใช้วัตถุดิบอาหารและเทคนิคการปรุงแต่งอาหารให้ออกมาสวยงาม
  4. ความใส่ใจในรายละเอียด เพื่อสร้างผลงานที่ดูประณีตและสมบูรณ์แบบ
  5. ความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
  6. ความยืดหยุ่นในการทำงานภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ
  7. ความสามารถในการบริหารจัดการเวลา
  8. ทักษะการทำงานเป็นทีม 
  9. ทักษะการเจรจาต่อรอง 
  10. ความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง 
  11. ความรู้เบื้องต้นด้านเทคโนโลยีและสื่อดิจิทัล 
💵 โอกาส ความท้าทาย และผลตอบแทน
  • ผลตอบแทน รายได้เริ่มต้น 20,000 - 40,000 บาทต่อเดือน  สำหรับพนักงานประจำในบริษัทโฆษณา สื่อสิ่งพิมพ์ หรือบริษัทผลิตสื่อดิจิทัล  และ 50,000 - 80,000 บาทต่อเดือน สำหรับผู้มีประสบการณ์สูง หรือทำงานในบริษัทชั้นนำ
  • รายได้ของนักออกแบบอาหารอิสระ สามารถกำหนดราคาค่าจ้างต่อโปรเจกต์หรือรายวันได้ โดยขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของงานและชื่อเสียงในวงการ
    • 5,000 - 15,000 บาทต่อวัน สำหรับโปรเจกต์ขนาดเล็ก เช่น การถ่ายภาพเมนูร้านอาหาร
    • 20,000 - 50,000 บาทต่อโปรเจกต์ สำหรับงานโฆษณาแบรนด์ใหญ่หรือการถ่ายภาพสินค้า
    • 100,000 บาทขึ้นไปต่อโปรเจกต์ สำหรับแคมเปญใหญ่หรือการทำงานร่วมกับแบรนด์ระดับนานาชาติ 
  • โอกาสและการเติบโตของอาชีพนักออกแบบอาหาร
    • ขยายบทบาทในสายงานการออกแบบอาหาร ไปสู่บทบาทผู้กำกับศิลป์ (Art Director) ที่รับผิดชอบภาพรวมการออกแบบและนำเสนออาหารในโปรเจกต์ขนาดใหญ่ เช่น โฆษณา หรืออีเวนต์ หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดองค์ประกอบอาหารเฉพาะด้าน เช่น การจัดอาหารสำหรับถ่ายภาพนิ่ง อาหารเพื่อสุขภาพ หรืออาหารสำหรับงานศิลปะ
    • โอกาสร่วมงานกับแบรนด์ในระดับนานาชาติ  ร่วมงานกับแบรนด์อาหาร เครื่องดื่ม หรือธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร และธุรกิจอื่น ๆ ในระดับนานาชาติ เช่น การถ่ายโฆษณาอาหารให้กับแบรนด์ชั้นนำ หรือการทำงานในกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ 
    • เข้าสู่วงการสื่อและดิจิทัล พัฒนาช่องทางสื่อของตัวเอง เช่น การสร้างเพจ สร้างช่อง YouTube ที่เน้นการจัดแต่งอาหาร หรือสร้างตัวตนในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) หรือผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและศิลปะการจัดแต่งอาหาร เพื่อสร้างรายได้จากการสนับสนุนและการโฆษณา
    • จัดอีเวนต์และเวิร์กช็อป สอนจัดอาหารสำหรับการถ่ายภาพในสื่อดิจิทัล หรือการออกแบบอาหารสำหรับงานศิลปะให้กับเชฟ นักศึกษา หรือผู้ที่สนใจในวงการอาหาร 
    • เป็นผู้ประกอบการ เปิดบริษัทที่ให้บริการจัดแต่งอาหารสำหรับงานถ่ายทำหรืออีเวนต์ สร้างแบรนด์สินค้าเกี่ยวกับการจัดแต่งอาหาร เช่น อุปกรณ์ตกแต่งอาหาร
  • ความท้าทายของอาชีพนักออกแบบอาหาร
    • ทำงานภายใต้ความต้องการและข้อจำกัด ลูกค้าแต่ละรายมีความต้องการที่หลากหลาย และมักจะมาพร้อมข้อจำกัด เช่น เวลาและงบประมาณ นักออกแบบอาหารต้องสามารถปรับตัวและทำงานให้ออกมาสอดคล้องกับความต้องการและภายใต้ข้อจำกัดที่มีให้ได้
    • แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเกี่ยวกับอาหารระหว่างถ่ายทำ อาหารบางอย่างอาจไม่ออกมาตามที่คาดหวัง เช่น ไอศกรีมละลาย อาหารทอดที่ดูไม่มีความกรอบ สีของน้ำมะพร้าวมีความเข้มข้นไม่พอ ต้องใช้ความรู้ด้านเทคนิคการปรุงแต่งอาหารให้สวยงาม เช่น การเติมสี การใช้วัตถุดิบอื่นมาทดแทน หรือใช้เทคนิคพิเศษเกี่ยวกับการถ่ายทำมาช่วยให้งานออกมาสมบูรณ์
    • การทำงานในกองถ่าย มีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับทีมงานหลายฝ่าย ช่างภาพ ผู้กำกับ และทีมกราฟิก ซึ่งต้องมีการประสานงานอย่าง ต้องใช้ทักษะการทำงานเป็นทีม การเจรจาต่อรองและการประนีประนอม
    • ทำงานภายใต้แรงกดดันด้านเวลา งานถ่ายภาพหรือวิดีโอมักมีตารางเวลาที่แน่นและต้องทำงานให้เสร็จทันเวลา ต้องเตรียมอาหารและอุปกรณ์ประกอบฉากทั้งหมดให้พร้อมและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว
🖥️ ช่องทางการศึกษาความรู้เพิ่มเติม
  • ช่องทาง Youtube ที่เกี่ยวกับอาชีพ นักออกแบบอาหาร

TruePlookpanya Channel. (2022, Dec 31). Food Stylist อาชีพนักออกแบบอาหาร (Fay Foodstylist) | I AM PLUS + EP.6 [Video]. https://youtu.be/CHedfYYGqr8?si=F-kr6E4XDDKOSTo 

 

🌐 แหล่งอ้างอิง
  • พี่ต้นแบบอาชีพนักออกแบบอาหาร [สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567]
  • AdAdict. (2021). ชวนทำความรู้จักอาชีพ Food Stylist ในสไตล์ ‘พิมฝัน’ มุมมองจากผู้ที่อยู่ในแวดวงของงานศิลปะมากว่า 10 ปี. https://adaddictth.com/interview/FoodStylist-Pimfun

 

0

แนะนำอาชีพใกล้เคียง

ไม่มีข้อมูล

รู้จักอาชีพผ่านกิจกรรม

ไม่มีข้อมูล