
นิยามสั้นๆ
ผู้ให้บริการบำบัดทางจิตใจผ่านครื่องมือทางศิลปะ โดยมุ่งหวังให้ผู้เข้ารับบริการเข้าใจและจัดการกับอารมณ์ หรือเยียวยาจิตใจในประเด็นความเจ็บปวดต่างๆ ของตนเองอย่างปลอดภัย
📃 ลักษณะงาน
- ให้บริการบำบัดผ่านเครื่องมือทางศิลปะ ใช้การสร้างสรรค์ทางศิลปะเพื่อช่วยผู้เข้ารับบริการในการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก ความคิด และความเจ็บปวดภายใน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและจัดการกับอารมณ์หรือประเด็นความเจ็บปวดทางจิตใจต่างๆ ของตนเองอย่างปลอดภัย
- ออกแบบแผนการบำบัดที่สอดคล้องกับเป้าหมายของผู้รับบริการ เพื่อสร้างกระบวนการเยียวยาที่ลึกซึ้ง โดยปรับการบำบัดตามประเด็นที่ผู้รับบริการต้องการทำความเข้าใจ
- สร้างความสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ให้ผู้รับบริการรู้สึกไว้วางใจ ปลอดภัยและกล้าแสดงออกผ่านสื่อศิลปะ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เข้ารับบริการเปิดใจและสำรวจอารมณ์ของตนเอง
- บันทึกและติดตามผลการบำบัด บันทึกและประเมินผลจากกระบวนการบำบัดทุกครั้ง เพื่อประเมินความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการที่เกิดขึ้น
- ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น เช่น นักจิตวิทยา จิตแพทย์ และนักบำบัดด้านอื่นๆ เพื่อให้การบำบัดเป็นไปอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
📊 ขั้นตอนการทำงาน
- การประเมินเบื้องต้น เริ่มต้นด้วยการประเมินผู้รับบริการ โดยทำความเข้าใจถึงสภาพจิตใจ ประวัติสุขภาพ และประเด็นที่ต้องการบำบัดเพื่อสร้างแผนการบำบัดที่เหมาะสมกับแต่ละคน ในกรณีที่ผู้รับบริการมีภาวะสุขภาพจิตที่ต้องการการดูแลเฉพาะทาง เช่น ภาวะซึมเศร้ารุนแรง ควรแนะนำให้ผู้รับบริการพบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะเริ่มกระบวนการบำบัดด้วยศิลปะ
- ออกแบบแผนการบำบัด วางแผนการบำบัดที่มีเป้าหมายชัดเจนตามปัญหาและความต้องการของผู้รับบริการ เช่น การสร้างความเข้าใจในตนเอง การจัดการกับความเครียด หรือการฟื้นฟู ความมั่นใจ โดยการบำบัดอาจกำหนดเป็นคอร์สจำนวน 8-12 ครั้ง หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับกรณีของแต่ละคน
- บำบัดด้วยศิลปะ โดยใช้เครื่องมือทางศิลปะต่างๆ เช่น การวาดภาพ การปั้นดิน หรือการใช้สี ซึ่งเครื่องมือที่เลือกใช้ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของนักบำบัด และเป้าหมายการบำบัดของผู้รับบริการ โดยในกระบวนการนี้จะสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและสนับสนุนให้ผู้รับบริการรู้สึกไว้วางใจที่จะเปิดใจ
- การทบทวนผลงานศิลปะและประเมินผลการบำบัด ทบทวนผลงานศิลปะทั้งหมดของผู้รับบริการ (Art Review) เพื่อสรุปผลการบำบัด รวมถึงการตรวจสอบความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงในแต่ละด้าน ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
- ติดตามผลหลังการบำบัด อาจมีการติดตามผลหลังจากการบำบัดเสร็จสิ้นเพื่อประเมินว่าผู้รับบริการยังคงได้รับประโยชน์และสามารถนำสิ่งที่ได้รับจากการบำบัดไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง
👩🏻💻 อาชีพที่ต้องทำงานร่วมกัน
- นักจิตวิทยา
- จิตแพทย์
- คุณครู
- นักจิตวิทยาคลินิก
- นักจิตบำบัด
🏢 สถานที่และเวลาทำงาน
- สถานที่ทำงาน โรงพยาบาล คลินิกหรือโรงเรียนที่มีบริการด้านสุขภาพจิต (โดยส่วนมากในประเทศไทยจะเป็นโรงเรียนนานาชาติ) และทำงานในสตูดิโอศิลปะบำบัดส่วนตัว โดยให้บริการบำบัดได้ทั้งแบบกลุ่มหรือแบบส่วนตัว
- เวลาทำงาน ทำงานที่เป็นตารางเวลาทำการของโรงพยาบาล คลินิกหรือโรงเรียนที่สังกัด เช่น 9.00 น. - 17.00 น. หรืออาจมีการนัดเวลาพิเศษนอกเวลาทำการ และมีเวลาทำงานที่หยืดหยุ่น ในกรณีที่เปิดสตูดิโอศิลปะบำบัดส่วนตัว ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้รับบริการ อาจทำงานเป็นรอบการบำบัด เช่น รายสัปดาห์หรือรายเดือน
✅ ความรู้ความสามารถที่ต้องใช้
- ทักษะการฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening) เพื่อทำความเข้าใจประสบการณ์ ความรู้สึก และปัญหาของผู้รับบริการ และไม่มีการตัดสิน
- ทักษะการมีสติและการรู้สึกตัว (Self-Awareness) มีสติอยู่กับปัจจุบันในขณะช่วงเวลาบำบัด รู้และเข้าใจอารมณ์ของตนเอง ไม่นำปัญหาของผู้รับบริการมากระทบต่อสภาพจิตใจของตนเอง
- ความรู้ด้านเครื่องมือศิลปะ เข้าใจคุณสมบัติและและเทคนิคการใช้งานของวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงผลทางอารมณ์ของเครื่องมือศิลปะแต่ละชนิด เพื่อเลือกใช้อย่างเหมาะสมกับผู้รับบริการ
- ความรู้ด้านการออกแบบและวางแผนการบำบัด ที่สอดคล้องกับปัญหาหรือเป้าหมายของผู้รับบริการ โดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการช่วยให้ผู้รับบริการเข้าใจตัวเองมากขึ้น
- ความรู้ด้านสุขภาพจิตและทฤษฎีที่เดี่ยวข้อง เช่น จิตวิทยา การบำบัดด้านอารมณ์ และการจัดการพฤติกรรม ทำให้สามารถประเมินความต้องการของผู้รับบริการและปรับวิธีการบำบัดให้เหมาะสม
- ความสามารถในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้ผู้รับบริการรู้สึกสบายใจและพร้อมที่จะเปิดเผยอารมณ์ความรู้สึก
💵 โอกาส ความท้าทาย และผลตอบแทน
- ผลตอบแทน รายได้จากเงินเดือนประจำ โดยเฉลี่ย 30,000 - 50,000 บาทต่อเดือน สำหรับนักศิลปะบำบัดที่ทำงานในโรงพยาบาล คลินิกหรือโรงเรียนที่มีบริการด้านสุขภาพจิต
- รายได้จากการทำสตูดิโอส่วนตัวหรือเป็นนักศิลปะบำบัดอิสระ ค่าบริการบำบัดต่อครั้งอาจเริ่มต้นที่ 1,000 - 3,000 บาท ต่อครั้ง (ประมาณ 60-90 นาที) และหากมีผู้ใช้บริการเจ้าประจำหรือคอร์สบำบัดต่อเนื่อง อาจมีรายได้รวมเฉลี่ย 20,000 - 60,000 บาทต่อเดือน
- รายได้อื่นๆ เช่น การเป็นวิทยากรการอบรมด้านศิลปะบำบัด รับเชิญเป็นผู้สอนด้านศิลปะบำบัดในสถานศึกษา โดยรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงการสอนอยู่ที่ 500 - 2,000 บาท หรือสูงกว่านั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และสถาบัน
- โอกาสและการเติบโตของอาชีพนักศิลปะบำบัด
เนื่องจากความต้องการในการดูแลสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อาชีพนี้มีโอกาสขยายตัวและต่อยอดไปได้ในหลายด้าน- เติบโตในตำแหน่งที่สูงขึ้น ตามสายงานประจำในโรงพยาบาล คลินิกหรือโรงเรียนที่มีบริการด้านสุขภาพจิต เช่น นักบำบัดอาวุโส ผู้ดูแลด้านการบำบัด ที่ปรึกษาด้านการบำบัด
- เปิดสตูดิโอศิลปะบำบัดส่วนตัว มีพื้นที่ให้บริการศิลปะบำบัดที่มีความยืดหยุ่นของรูปแบบการให้บริการ ได้ทั้งแบบส่วนตัวและแบบกลุ่ม มีความเป็นอิสระในการทำงานและโอกาสในการเติบโตอย่างไม่จำกัด
- บูรณาการการใช้ศิลปะบำบัดร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือแม้แต่นักออกแบบประสบการณ์ เพื่อสร้างวิธีการบำบัดที่หลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น ช่วยพัฒนาและบูรณาการวิธีการบำบัดให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
- จัดเวิร์กช็อปและกิจกรรมบำบัด สำหรับบุคคลทั่วไป หรือสำหรับพนักงานในองค์กร เพื่อเสริมสร้างสุขภาพจิตในที่ทำงาน
- เป็นวิทยากรหรืออาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษา ต่อยอดความรู้ผ่านการแบ่งปันประสบการณ์ให้กับนักศึกษา
- ความท้าทายของอาชีพนักศิลปะบำบัด
- ความแตกต่างของผู้เข้ารับบริการ อาชีพนักศิลปะบำบัดต้องพบกับความหลากหลายของปัญหาทางจิตใจ ช่วงวัยและอาชีพของผู้รับบริการ ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายและแนวทางการบำบัดที่ต่างกัน โดยเมื่อผ่านการสะสมประสบการณ์และสังเกตความถนัดของตัวเองมาในระยะหนึ่ง สามารถเลือกให้บริการเฉพาะประเด็นปัญหาและกลุ่มวัยที่ทำได้มีประสิทธิภาพ
- ต้องรับฟังปัญหาและสัมผัสกับอารมณ์ ความรู้สึกของผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดความกดดันและความเครียด จำเป็นต้องมีวิธีจัดการความเครียดและการดูแลตัวเอง (Self-Care) เพื่อรักษาสมดุลของจิตใจ
- การบำบัดด้วยศิลปะต้องมีความยืดหยุ่นสูง บางครั้งผู้รับบริการอาจเผชิญสถานการณ์ใหม่ๆ หรือความรู้สึกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นักศิลปะบำบัดจึงต้องมีทักษะในการประเมินและปรับแผนบำบัดอย่างทันท่วงที เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพจิตใจของผู้รับบริการ
- อาชีพนี้ยังไม่เป็นที่รับรองตามกฎหมาย ในประเทศไทยนักศิลปะบำบัดยังไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล ไม่มีใบประกอบโรคศิลป์เหมือนกับแพทย์ จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาคลินิก ส่งผลต่อการยอมรับในสังคมและโอกาสการทำงานในบางสถานที่ที่มีข้อจำกัด ซึ่งต้องใช้เวลาและความพยายามในการสร้างความน่าเชื่อถือ
🖥️ ช่องทางการศึกษาความรู้เพิ่มเติม
- ช่องทาง Youtube ที่เกี่ยวกับอาชีพ นักศิลปะบำบัด
- Fiat Nattanan. (2021, July 17). EP.1 : รวม 6 คำถามเกี่ยวกับศิลปะบำบัด [Video]. https://youtu.be/eZG8TvzXyBs?si=F5bzBHYvLo4EDKu3
- CWLLL-สมาคมภูมิปัญญาสร้างสรรค์และการเรียนตลอดชีวิต. (2021, Sep 13). Educatist EP.03 Art Therapy ศิลปะบำบัด [Video]. https://youtu.be/AjJ9_pbmqt4?si=uC5nLiXkZufRQUK9
- บทความที่เกี่ยวกับอาชีพ นักศิลปะบำบัด
- Common. (2019). ปรัชญพร วรนันท์ : นักศิลปะบำบัดผู้ช่วยให้คนมองเห็น ‘ความเป็นไปได้’ ในชีวิต. https://becommon.co/people/art-therapist/#accept
- ART for CENCER. พรไพลิน ตันเจริญ นักศิลปะบำบัดผู้ออกแบบวิธีดูแลใจด้วยใจ.https://artforcancerbyireal.com/pornpilin-tancharoen/
🌐 แหล่งอ้างอิง
- พี่ต้นแบบนักศิลปะบำบัด [สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2567]
- ART for CENCER. พรไพลิน ตันเจริญ นักศิลปะบำบัดผู้ออกแบบวิธีดูแลใจด้วยใจ.
https://artforcancerbyireal.com/pornpilin-tancharoen/