
นิยามสั้นๆ
ผู้แปลภาษาพูดที่ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เพื่อให้คน 2 ฝ่ายสามารถสื่อสารเข้าใจตรงกัน โดยมีล่ามเป็นคนกลาง
📃 ลักษณะงาน
ล่ามเป็นภาพลักษณ์แรกที่ทีมงานอีกฝ่ายเห็น จำเป็นต้องมีทักษะครอบคลุมด้านการสื่อสาร สามารถประสานงาน บางครั้งอาจต้องช่วยไกล่เกลี่ยให้สถานการณ์ราบรื่นและงานดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว
อาจแบ่งล่ามที่แปลภาษาพูดได้ 2 ประเภท คือ
- ล่ามพูดพร้อม คือล่ามที่ฟังแล้วแปลทันที เช่น ล่ามที่นั่งใกล้ๆ ประธานในที่ประชุม ที่เมื่อได้ยินผู้เข้าประชุมพูดอะไร ล่ามพูดพร้อมจะต้องแปลให้ประธานฟังแทบจะในเวลาที่ผู้พูดกำลังพูดอยู่ เพื่อให้การสนทนาลื่นไหล
- ล่ามพูดตาม คือล่ามที่ฟังคำพูดจนจบ เตรียมสักพัก แล้วค่อยแปล เช่น ล่ามศิลปิน ล่ามนักกีฬา
📊 ขั้นตอนการทำงาน
ขึ้นอยู่กับแต่ละประเภทงานหรือธุรกิจของงานที่ว่าจ้าง บางงานล่ามจะต้องไปถึงสถานที่นัดหมายเพื่อเตรียมตัวก่อน บางงานล่ามสามารถไปแล้วเริ่มทำงานได้เลย โดยทั่วไปแล้วงานล่ามอาจมีขั้นตอนการทำงานดังนี้
- รับโจทย์ รับทราบขอบเขตงาน
- บางงานอาจต้องเตรียมตัวหาข้อมูลเพิ่ม เช่น คำศัพท์เฉพาะ หรือข้อมูลผลิตภัณฑ์สินค้าที่เกี่ยวข้องกับงาน
- ทำหน้าที่ล่ามแปลภาษา ในฐานะตัวกลางเพื่อทำให้สองฝ่ายคุยกันเข้าใจ
- แม้จะหมดเวลาตามตารางเวลาทำงานแล้ว แต่ล่ามอาจจะออกจากงานไม่ได้ทันที ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เช่น มีการไปกินข้าวกันต่อ ล่ามก็ควรต้องไปด้วย
- รับทราบผลการทำงาน ขึ้นอยู่กับผู้ว่าจ้าง เพราะบางครั้งล่ามอาจได้รับผลประเมินความคิดเห็นจากผู้ว่าจ้างเพื่อพัฒนาตัวเองต่อไป
👩🏻💻 อาชีพที่ต้องทำงานร่วมกัน
เนื่องจากล่ามต้องทำงานตามที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับแต่ละงาน ว่าคนที่เราจะทำหน้าที่ล่ามให้ เขาประกอบอาชีพอะไร รวมถึงขึ้นอยู่กับว่าล่ามเลือกทำงานในองค์กรหรือเป็นล่ามอิสระ (ฟรีแลนซ์) ตัวอย่างอาชีพต่างๆ ที่ล่ามอาจต้องทำงานร่วมด้วย มีดังนี้
- หากเป็นล่ามทำงานประจำในโรงงานบริษัทญี่ปุ่น (ส่วนมากมักเป็นโรงงานรถยนต์) ล่ามอาจจะได้ทำงานร่วมกับ ช่าง วิศวกร Supplier ต่างๆ เช่น บริษัทผลิต ยาง กระจก
- หากรับงานจากบริษัทหางานล่าม จะขึ้นอยู่กับว่าบริษัทนั้นทำสัญญากับบริษัทอะไร เช่น หากมีสัญญากับทีมฟุตบอล งานที่ล่ามจะได้รับก็จะได้รับผิดชอบเป็นล่ามให้นักบอลหรือเจ้าหน้าที่ในทีมฟุตบอล
- หากทำงานเป็นล่ามในการจัดคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศ ก็อาจได้ทำงานร่วมกับช่างไฟ ช่างเสียง ทีมงานอาชีพต่างๆ ที่ทำงานร่วมกับศิลปินเพื่อจัดคอนเสิร์ต ล่ามที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีประวัติการทำงานที่เหมาะสมจะได้รับการพิจารณาและคัดเลือกให้เป็นล่ามดูแลศิลปิน
- หากทำงานเกี่ยวกับสถานพยาบาล อาจได้ทำงานร่วมกับพยาบาล หมอ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล
🏢 สถานที่และเวลาทำงาน
- หากเป็นล่ามที่เป็นพนักงานประจำในบริษัทก็ทำงานในเวลาและสถานที่ตามที่บริษัทกำหนด โดยนอกจากงานล่ามแล้ว อาจได้รับมอบหมายงานอื่นๆ ด้วย เช่น งานประสานงาน งานจัดเตรียมเอกสาร ฯลฯ
- การทำงานฟรีแลนซ์ อาจได้ทำงานในสถานที่หลากหลาย บางงานอาจมีระบุระยะเวลา อาจมีบางงานที่ใช้เวลาทำงานเพียงไม่กี่ชั่วโมง เช่น การเซ็นสัญญา 2 ชั่วโมง เพื่อเป็นล่ามในการติดต่อธุรกิจ แต่เวลาทำงานจริงอาจจะไม่ได้เป็นไปตามเวลานั้น เพราะอาจจำเป็นต้องคอยเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ
✅ ความรู้ความสามารถที่ต้องใช้
- การแก้ปัญหาและสถานการณ์เฉพาะหน้าได้
- การรักษาคุณภาพมาตรฐานของงาน กล้าถามในสิ่งที่ไม่รู้เพิ่มเติม เพื่อเอาไปอธิบายให้ข้อมูลได้ถูกต้อง ครบถ้วน
- มีไหวพริบในการสื่อสาร ไม่ทำให้เกิดบรรยากาศที่อึดอัด
- การฟังและจับประเด็น
- ทักษะการสื่อสาร การเลือกคำ เพื่อสร้างความเข้าใจทั้งสองฝ่ายให้ตรงกัน ต้องรู้จักเลือกคำให้ตรงกับคำพูดของผู้พูดให้มากที่สุด และไม่ใส่อารมณ์ส่วนตัว
- มีความรู้ในภาษา
6.1. ภาษาหลักของตนเอง
6.2. ภาษาอังกฤษ
6.3. หากมีความรู้ในภาษาที่ 3 ขึ้นไป ก็จะเป็นข้อได้เปรียบมากขึ้น
7. มีระดับความรู้ของภาษาที่ใช้ เช่น
- ภาษาญี่ปุ่นมีระดับ N1-N5
- ภาษาเกาหลีมีการสอบวัดระดับความรู้ ความสามารถทางด้านภาษาเกาหลีเรียกว่า TOPIK (Test of Proficiency in Korean)
- ภาษาเยอรมัน มีระบบการวัดที่เรียกว่า Goethe-Zertifikat ที่มีระดับความสามารถตั้งแต่ A1-C1
8. หากมีความชอบหรือความสนใจเฉพาะด้าน ก็อาจเสริมให้การทำงานล่ามในด้านนั้นๆ สนุกและทำได้ดี เช่น สนใจด้านความงามก็จะทำงานล่ามที่เกี่ยวกับด้านเครื่องสำอางหรือศัลยกรรมได้ราบรื่น
9. อาชีพล่ามไม่จำเป็นต้องมีใบประกอบวิชาชีพ (นอกจากการทำงานในบางภาษาและบางบริบท เช่น สถานฑูต อาจจำเป็นต้องมีใบการสอบใบอนุญาต) และไม่จำเป็นต้องเรียนจบคณะด้านภาษามาโดยตรง ขอเพียงสามารถสอบวัดระดับภาษาได้ตามเกณฑ์และมีประสบการณ์ตามที่ผู้ว่าจ้างกำหนด
10. ใฝ่รู้และพัฒนาตัวเองเสมอ ล่ามต้องคอยปรับตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น คอยเรียนรู้และทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาของภาษา ภาษาวัยรุ่น คำแสลง คำที่ใช้ในแต่ละยุคสมัย เป็นต้น
💵 โอกาส ความท้าทาย และผลตอบแทน
- การเติบโตในสายอาชีพ (Career Path) และค่าตอบแทนของล่ามที่ทำงานประจำและล่ามฟรีแลนซ์ มีข้อแตกต่างกัน คือ
- ล่ามที่ทำงานประจำ ตำแหน่งสูงสุดอาจเป็นหัวหน้าล่าม มีทีมล่ามเป็นของตัวเอง เป็นหัวหน้ากลุ่ม เงินเดือนอาจเริ่มที่ 25,000 บาท (กรณีมีความรู้ภาษาที่ 3) อาจได้รับเงินเดือนสูงขึ้นหากมีความรู้ภาษาในกลุ่มประเทศยุโรป หากเป็นบริษัทญี่ปุ่นอาจได้เงินเดือนแต่ละไม่มากแต่อาจทดแทนด้วยการได้เงินโบนัสหลายเดือน บางบริษัทอาจให้เงินตอบแทนค่าระดับคะแนนภาษา เช่น ได้เงินเดือนเพิ่ม เมื่อสอบ TOEIC ได้คะแนนสูงตามเกณฑ์ที่บริษัทตั้งไว้ โดยบางบริษัทอาจมอบหมายงานอื่นๆ นอกจากงานล่ามให้ทำด้วย เช่น งานติดต่อประสานงาน งานเอกสาร หรืองานแปล
- ล่ามฟรีแลนซ์ จะได้ทำงานหลากหลายรูปแบบ แต่อาจไม่มีความมั่นคง และไม่มีขั้นการเติบโตในอาชีพ แต่จะเป็นการสะสมประสบการณ์และประวัติการทำงานมากกว่า โดยรายได้อาจคิดเป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือเป็นงาน แล้วแต่ลักษณะงานและการว่าจ้าง เช่น ล่ามที่ทำงานในศาล อาจได้ผลตอบแทนชั่วโมงละ 5,000 บาท ล่ามรับงานในงานแต่งงานอาจได้ค่าตอบแทนชั่วโมงละ 1 หมื่นบาท ส่วนล่ามที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลแบบสอบถาม มักคิดค่าตอบแทนเป็นจำนวนแบบสอบถามที่ทำได้ เช่น ชุดละ 500 บาท เป็นต้น
- คุณค่าที่ได้จากอาชีพนี้คือ การได้เรียนรู้วัฒนธรรมผ่านการพูดคุย การสื่อสาร ได้มิตรภาพและความสัมพันธ์จากผู้คนที่พบระหว่างการทำงาน
- ความท้าทายในการเป็นล่าม เช่น ด้านสุขภาพ ที่บางงานต้องวิ่ง ต้องเดินเยอะ หรือต้องเตรียมตัวพร้อมทำงานและพร้อมแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเวลา
- ในขณะที่บางงานอาจได้รับมอบหมายให้ทำนอกเหนือจากที่ผู้ว่าจ้างเคยตกลงไว้ ล่ามจะต้องประเมินสถานการณ์หน้างานเพื่อตัดสินใจว่าจะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีและอำนวยความสะดวกสบายให้ทุกคนเพิ่มจากขอบเขตงานเดิมหรือไม่
- อาชีพล่ามอาจไม่สามารถเลือกคนที่เราจะไปเป็นล่ามให้ได้ หากเจอคนที่เข้าใจ ปฏิบัติตัวดีกับล่าม ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่หากเจอพฤติกรรมที่ไม่ดี จะถือเป็นเรื่องท้าทายที่ล่ามจำเป็นต้องรักษาจุดยืนการเป็นกลาง รักษามาตรฐานการทำงานของตนเอง และมีวิธีผ่อนคลายตัวเองเมื่อเสร็จงาน
- ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่มีความสามารถในการเก็บข้อมูลคำศัพท์ เป็นเครื่องมือช่วยในการแปล ซึ่งต่อไปอาจมีความแม่นยำมากขึ้น แต่อาชีพล่ามที่เป็นคน ก็ยังสามารถเห็นและเข้าใจสีหน้าของผู้พูด เข้าใจความรู้สึกจากคำพูด น้ำเสียง ท่าทาง รวมถึงสามารถเลือกคำที่พูดออกไปแล้วจะส่งผลให้คนที่ได้ยินรู้สึกอย่างไรได้ ซึ่งนับว่ายังเป็นความสามารถที่ AI ยังไม่สามารถทำได้
🖥️ ช่องทางการศึกษาความรู้เพิ่มเติม
- สำหรับภาษาเกาหลีเบื้องต้น 101 ใน youtube (https://www.youtube.com/c/koreanclass101)
- เว็บไซท์ Talk to Me in Korean (https://talktomeinkorean.com/)
- เรียนภาษาเกาหลีออนไลน์จาก Yongsei University (https://www.yskli.com/hp/cmnty/list/selectCmntBbs001Detail.do?yskliMenuNo=cmntBbs001&bidx=36002)
- คอร์สเรียนภาษาสอนฟรี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (https://mooc.chula.ac.th/courses?category=LANGUAGE)
📚 ข้อมูลสายการเรียนที่เกี่ยวข้อง
มัธยมศึกษาตอนปลาย
- เปิดรับทุกสายการเรียน วุฒิจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า
ปริญญาตรี เช่น
- คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ
- คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่นและการสื่อสาร
- คณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น
- คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาเกาหลี
- วิทยาลัยศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมเกาหลี
- คณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาภาษาเกาหลี
- คณะใดก็ได้ แต่สามารถสอบวัดระดับภาษาได้ตามเกณฑ์และมีประสบการณ์ตามที่ผู้ว่าจ้างกำหนด
ปริญญาโท เช่น
- หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาญี่ปุ่นศึกษา
- หลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการแปลและการล่าม
ปริญญาเอก เช่น
- หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น
*ข้อมูล ณ ปี 2567