ข้อมูลอาชีพสตรีมเมอร์ (Live Streamer)

วันศุกร์ที่ 14 เมษายน 2566 เวลา 05:16 • ใช้เวลาอ่าน 2 นาที
Online games addiction-pana.png

 

นิยามสั้นๆ

 

ผู้ที่ทำกิจกรรมต่างๆ ในรูปแบบการถ่ายทอดสด (Live streaming) หรือเรียกว่า ‘Live สด’ บนอินเทอร์เน็ตผ่านแพลต์ฟอร์มต่างๆ เพื่อโต้ตอบกับผู้ชมแบบเรียลไทม์ เช่น ไลฟ์เล่นเกม ขายของ พูดคุยกับคนดู ร้องเพลง เต้น ฯลฯ

 

📃 ลักษณะงาน
  • Live stream ถ่ายทอดสดเนื้อหา คอนเทนต์ (Content) ที่วางแผนไว้ตามตารางการถ่ายทอดสดลงบนอินเทอร์เน็ต
  • ให้ความบันเทิงกับผู้ชม โต้ตอบมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่เข้ามาชม Live Stream สร้างบรรยากาศให้ผู้ชมอยู่ชมไลฟ์ของเราจนจบ 
  • คิด สร้างสรรค์ เนื้อหาใหม่ๆ เพื่อสื่อสารออกมาเป็น Live Stream
  • นอกจากคำว่าสตรีมเมอร์ บางคนก็เรียกโฮสต์ (Host) หรือพิธีกรของช่องนั้นๆ
📊 ขั้นตอนการทำงาน
  • คิดหาไอเดียสำหรับเนื้อหาที่ตัวเองอยากนำเสนอ เช่น เล่นเกม ขายของ หรือถ่ายทอดสดเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน (In real life : IRL) อย่างการเดินทางไปทำงาน กิจวัตรในบ้าน เป็นต้น 
  • วางแผนตารางการทำงานของตัวเองและทีม ตั้งแต่วันคิดเนื้อหา วันคุยงาน วันถ่ายทอดสด
  • เตรียมตัวก่อนถ่ายทอดสด เช่น คิดบทพูด (Script สคริปต์) ตั้งค่าอุปกรณ์ที่ต้องใช้ เช่น กล้อง ไฟ จัดสถานที่ ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน บางคนอาจชอบความเป็นธรรมชาติ ไม่มีการซักซ้อมหรือคิดบทมาก่อน
  • ถ่ายทอดสด โดยจะต้องคอยปรับแผนและวิธีเพื่อดึงความสนใจให้ผู้ชมยังดูต่อ
  • หลังถ่ายทอดสดเรียบร้อย มีการสรุปผล เพื่อดูแนวทางการทำงานครั้งต่อไป
👩🏻‍💻 อาชีพที่ต้องทำงานร่วมกัน
  • ครีเอทีฟ (Creative) ช่วยวางแผนทิศทางการผลิตเนื้อหาคอนเทนต์ 
  • ผู้จัดการ (Manager) คอยจัดการตารางงาน คุยกับลูกค้าในกรณีที่สตรีมเมอร์มีชื่อเสียง ช่องมีความนิยมมากขึ้น และมีการจ้างงานเกิดขึ้น 
  • ทีมงานถ่ายทำ (Production staff) สตรีมเมอร์ส่วนใหญ่สามารถถ่ายทอดสดคนเดียวได้ แต่บางคนก็อาจมีทีมงานร่วมถ่ายทำด้วยเช่นกัน
🏢 สถานที่และเวลาทำงาน
  • สตรีมเมอร์ มี 2 ประเภท จะมีขอบเขตงานและเวลางานขึ้นอยู่กับการจัดการบริษัทที่สังกัดและตารางชีวิตของแต่ละคน คือ 
    1) คนที่ทำงานประจำและเป็นสตรีมเมอร์หลังเลิกงาน 
    2) สตรีมเมอร์เต็มเวลา 
  • หากเป็นสตรีมเมอร์ที่มีสังกัดหรือค่ายกำกับ จะมีเวลาสตรีมงานตามที่ค่ายกำหนด ขึ้นอยู่กับสัญญา ซึ่งอาจมีข้อตกลงเรื่องของเวลาเข้าออกออฟฟิศ จำนวนชั่วโมงถ่ายงาน เป็นต้น
  • สถานที่ทำงานของสตรีมเมอร์มีความยืดหยุ่นสูง เพราะการสตรีมสดสามารถสตรีมจากที่ไหนก็ได้ เช่น จากบ้านของตัวเอง สถานที่ท่องเที่ยว หรือบางคนอาจมีห้องสตูดิโอสำหรับถ่ายทอดสดโดยเฉพาะ
✅ ความรู้ความสามารถที่ต้องใช้
  1. มีทักษะด้านการสื่อสาร การพูด สามารถรักษาบรรยากาศความสนุกสนาน ดึงดูดผู้ชม 
  2. มีทักษะภาษาต่างประเทศ เพื่อสื่อสารกับผู้ชมต่างชาติ และทำให้คอนเทนต์ขยายสู่นานาชาติ
  3. มีความสามารถด้านเทคโนโลยีในการใช้โปรแกรมถ่ายทอดสด สามารถใช้งานได้คล่องแคล่ว และวิเคราะห์และแก้ปัญหาเบื้องต้นของอุปกรณ์ได้ เช่น ไมโครโฟนไม่ติดขณะไลฟ์ทำอย่างไร ภาพกระตุกเกิดจากสาเหตุใด
  4. มีวินัยและทักษะการจัดการเวลา เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยความสม่ำเสมอและค่อนข้างมีความยืดหยุ่นทั้งด้านเวลางานและสถานที่ จึงต้องมีทักษะการจัดการเวลาที่ดี 
  5. มีความสามารถด้านการตลาด รู้จักวิเคราะห์เทรนด์สังคม ความต้องการของผู้ชม รูปแบบงานของสตรีมเมอร์คนอื่น ๆ กระแสและผลตอบรับจากงานที่ผ่านมา เพื่อนำมาพัฒนางานของตนเองให้สมบูรณ์ตอบโจทย์ผู้ชม 
  6. ต้องทันโลก ทันกระแส อัปเดตตัวเองในวงการที่เกี่ยวข้องและเรื่องราวในสังคมตลอดเวลา 
  7. มีความคิดสร้างสรรค์ คิดค้นนำเสนอเนื้อหาใหม่ๆ ไม่จำเจกับที่มีอยู่ 
  8. มีทักษะการจัดการกับอารมณ์ เพราะต้องรับมือกับผู้ชมที่เข้ามาดู ซึ่งอาจเจอความเห็นหลายรูปแบบ (ทั้งดีและไม่ดี)
💵 โอกาส ความท้าทาย และผลตอบแทน
  • อาชีพสตรีมเมอร์เป็นงานที่หากมีเพียงโทรศัพท์มือถือกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ทำให้มีคนใหม่ๆ เข้าสู่วงการมากขึ้น การแข่งขันสูงขึ้น ต้องรักษาคุณภาพ มองเห็นโอกาสและไอเดียใหม่ๆ เพื่อทำให้งานของตัวเองโดดเด่นและน่าติดตามอยู่เสมอ โดยต้องไม่ลืมว่า
    - ต้องรักษาฐานคนดูให้คงอยู่ไว้มากที่สุด ยิ่งมีผู้ชม ผู้ติดตามมาก โอกาสในการสร้างรายได้ก็จะเข้ามามากด้วย

- ต้องรักษาคุณภาพของไลฟ์ (ทั้งภาพและเสียง) หากภาพไม่คมชัด เสียงติดๆ ขัดๆ ก็อาจทำให้ผู้ชมเสียอรรถรสและกดออกจากการไลฟ์ไป
- ต้องรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมาย PDPA ที่ส่งผลต่ออาชีพการเป็นสตรีมเมอร์ เพราะต้องออกไปถ่ายทอดสดกิจกรรมข้างนอก ทำให้ต้องระมัดระวังเรื่องการถ่ายติดใบหน้าผู้อื่น

  • การไลฟ์ ในแง่หนึ่งจะเน้นเรื่องที่ฉับไวและทันที ดังนั้น สตรีมเมอร์จะต้องอัปเดตตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้ทันกระแสสังคมและโลก
  • รายได้ของอาชีพนี้อาจมาจาก 3 ช่องทาง ได้แก่ 

1. จากผู้ชมที่สนับสนุนและบริจาคให้สตรีมเมอร์

2. มียอดผู้เข้าชม ผู้ติดตาม ถึงเกณฑ์ตามข้อกำหนดของแต่ละแพลตฟอร์ม ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มจะมีเปอร์เซ็นต์ค่าตอบแทนที่แตกต่างกัน 

3. รายได้จากการเซ็นสัญญากับทางแพลตฟอร์ม หรือการเข้าสังกัดใดสังกัดหนึ่ง ในกรณีที่แพลตฟอร์มต้องการให้สตรีมเมอร์นั้นๆ สตรีมไลฟ์อยู่ในแพลตฟอร์มเดียว มูลค่าสัญญามีตั้งแต่หลักพันถึงหลักล้าน อย่างไรก็ดี สตรีมเมอร์ 1 คน สามารถอยู่ได้หลายแพลตฟอร์ม (หากไม่ติดสัญญา) แต่มักไม่ค่อยมีคนทำ เนื่องจากต้องรักษาคุณภาพการไลฟ์และโต้ตอบกับผู้ชมในทุกช่องทางให้ดีในเวลาเดียวกัน 

  • นอกจากค่าตอบแทนที่เป็นรายได้ สตรีมเมอร์มีโอกาสได้รับค่าตอบแทนเป็นสิ่งของ หรือการเชิญไปร่วมออกงานอีเวนท์ต่างๆ เช่น เปิดตัวเกมใหม่ ซึ่งช่วยขยายโอกาสในงานของตัวเอง
  • การเป็นสตรีมเมอร์ทำให้เกิด Community ความเป็นชุมชนความสัมพันธ์ระหว่างตัวสตรีมเมอร์กับผู้ชม เปิดโอกาสให้ได้รู้จักกับมิตรภาพใหม่ๆ แต่ก็ต้องรับมือกับผู้คนหลากหลาย ซึ่งบางครั้งเป็นผู้ชมที่เข้ามากลั่นแกล้งออนไลน์ ส่งข้อความหยาบคาย สตรีมเมอร์จึงต้องมีทักษะการจัดการอารมณ์และวิธีรับมือที่ดี

ในอนาคต AI อาจส่งผลกับอาชีพนี้ ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันมีสิ่งที่เรียกว่า Vtuber (วีทูบเบอร์) หรือ Virtual youtuber (เวอร์ชวลยูทูบเบอร์) เป็นสตรีมเมอร์ที่ผู้สตรีมไม่ต้องเปิดเผยใบหน้าของตัวเอง แต่สตรีมผ่านอวตารซึ่งเป็นตัวการ์ตูน ได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่นและกำลังขยายไปทั่วโลก ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตจะมีสตรีมเมอร์ที่เป็น AI แทนมนุษย์จริงๆ

💵 โอกาส ความท้าทาย และผลตอบแทน
  • เว็บไซต์ Youtunbe มีคนให้ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ การสตรีม การสร้างคอนเทนต์ต่างๆ มากมาย สามารถค้นหาจากช่องต่างๆ ใน Youtube ได้เลย 
  • สังเกตเทคนิคจากสตรีมเมอร์ที่เราติดตามอยู่ ลองดูจากวิธีการสื่อสาร การถ่ายทอดสด และเนื้อหาของเขาว่าเป็นอย่างไร
📚 ข้อมูลสายการเรียนที่เกี่ยวข้อง

มัธยมศึกษาตอนปลาย

  • เปิดรับทุกสายการเรียน วุฒิจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า

 

ปริญญาตรี เช่น

  • คณะดิจิทัลมีเดีย สาขาการออกแบบอินเทอร์แอคทีฟและเกม 
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์แอนิเมชันและเกม
  • วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิตอลและเทคโนโลยี สาขาวิชาคอมพิวเตอร์เกมและอีสปอร์ต
  • คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย กลุ่มวิชาการพัฒนาเกม
  • คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการธุรกิจเกม และอีสปอร์ต
  • บางหน่วยงานเปิดรับวุฒิ ป.ตรีสาขาทุกสาขา แต่ควรมีความรู้และทักษะด้าน
    • การสตรีม 
    • อุปกรณ์ต่าง ๆที่ใช้ในการสตรีม 
    • เกมและการพัฒนาเกม
    • เทคนิคการเล่นเกม 
    • เทคนิคการพูดคุยในไลฟ์

 

*ข้อมูล ณ ปี 2567

 

1,012

แนะนำอาชีพใกล้เคียง

ไม่มีข้อมูล

รู้จักอาชีพผ่านกิจกรรม

ไม่มีข้อมูล