
นิยามสั้นๆ
ผู้สร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์หรือยี่ห้อสินค้าหรือบริการนั้นๆ ด้วยการช่วยมองหาเรื่องราว จุดแข็ง หรือจุดแตกต่างของแบรนด์ แล้วนำมาทำให้มีความชัดเจนเพื่อสื่อสารออกไปสู่ลูกค้าผ่านภาพลักษณ์ สินค้าบริการ บรรยากาศ การตกแต่ง ฯลฯ
📃 ลักษณะงาน
- ทำความเข้าใจเป้าหมายและข้อมูลของสินค้าและบริการที่ได้รับโจทย์จากผู้ว่าจ้าง เพื่อสร้างสรรค์ไอเดียที่แสดงตัวตน จุดยืน และคุณค่าของแบรนด์ ให้กลุ่มเป้าหมายตอบสนองตามเป้าที่ตั้งไว้
📊 ขั้นตอนการทำงาน
- รับบรีฟจากลูกค้า ซึ่งคล้ายกับการสัมภาษณ์รายละเอียดจากลูกค้า ตั้งแต่วิสัยทัศน์ ตัวตน ไปจนถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของธุรกิจของลูกค้า
- นำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยทำการเปรียบเทียบกับข้อมูลของธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่ในประเภทธุรกิจเดียวกัน เพื่อมองหาความแตกต่างที่จะเป็นจุดยืนของแบรนด์ของลูกค้าเรา แล้วนำผลวิเคราะห์ที่ได้กลับไปพูดคุยกับลูกค้า
- ออกแบบแบรนด์ โดยการนำจุดยืน จุดแข็ง จุดแตกต่างของแบรนด์ที่วิเคราะห์ไว้มาออกแบบเป็นส่วนต่างๆ เช่น โลโก้ รูปลักษณ์สินค้า หีบห่อบรรจุ การตกแต่งร้าน คุณสมบัติพนักงาน ฯลฯ
นำเสนอผลงานที่ออกแบบไว้ให้กับลูกค้า และเมื่อลูกค้าตัดสินใจนำไปใช้แล้ว นักพัฒนาแบรนด์จะต้องควบคุมดูแลเรื่องการนำไปใช้และติดตามผลตอบรับ (Feedback) เพื่อนำมาสรุปผลต่อไป
👩🏻💻 อาชีพที่ต้องทำงานร่วมกัน
ในกรณีที่เป็นนักพัฒนาแบรนด์ภายใต้สังกัดเอเจนซี่ จะมีอาชีพที่เราจะต้องทำงานร่วมด้วย (ขึ้นอยู่กับว่าเรารับพัฒนาแบรนด์ให้กับธุรกิจประเภทไหน เพราะนอกจากจะต้องควบคุมการนำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังรวมถึงการสื่อสารความหมายและข้อมูลของแบรนด์ที่ออกแบบขึ้นมาให้กับพนักงานตำแหน่งต่างๆ ในธุรกิจนั้นให้รับทราบและปฏิบัติตามด้วย) เช่น
- ผู้บริหารงานลูกค้า (Account Executive)
- นักออกแบบกราฟิก (Graphic Designer)
- ครีเอทีฟ (Creative)
🏢 สถานที่และเวลาทำงาน
- หากสังกัดภายใต้บริษัทเอเจนซี่โฆษณาหรือบริษัทที่รับพัฒนาและออกแบบแบรนด์ จะได้ทำงานที่ออฟฟิศขององค์กร เพราะเป็นอาชีพที่ต้องทำงานเป็นทีม มีวงคุยและการประชุมงานเสมอ มีเวลางานที่ค่อนข้างมีความยืดหยุ่น ขึ้นอยู่กับบริษัทที่ทำงาน เช่น อาจจะเข้างานกี่โมงก็ได้แต่ขอให้ทำงานครบ 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือ อาจสามารถนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ แต่เข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ 3 - 4 วันต่อสัปดาห์ เป็นต้น
- นักพัฒนาแบรนด์อิสระจะสามารถทำงานที่ใดก็ได้ และมีเวลาทำงานที่ไม่แน่นอนมากกว่า ขึ้นอยู่กับการจัดการและการวางแผนการทำงานของแต่ละคน
✅ ความรู้ความสามารถที่ต้องใช้
- ติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของโลก
- พร้อมเรียนรู้ พร้อมเปิดโลก ใฝ่หาความรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
- มีทักษะคิดวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งเทรนด์ปัจจุบัน สถานการณ์ตลาดธุรกิจกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในแวดวงเดียวกับธุรกิจของลูกค้า
- มีความเข้าใจในผู้บริโภคและการตลาด
- มีความคิดสร้างสรรค์ มองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้
- สื่อสารเก่ง ทั้งระหว่างการทำเตรียมงาน พูดคุยกับลูกค้า ไปจนถึงรู้วิธีสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายซึ่งอาจเป็นคนหมู่มาก
- มีทักษะด้านอินเตอร์เน็ทและโซเชี่ยลมีเดีย
- มีจรรยาบรรณ คิดและทำงานภายใต้ข้อกฎหมายที่ไม่ล่วงละเมิดหรือทำสิ่งที่จะส่งผลร้ายต่อคนอื่น
- จัดเก็บข้อมูลเป็นที่ เก็บข้อมูลสำคัญของลูกค้าเป็นความลับ
💵 โอกาส ความท้าทาย และผลตอบแทน
- เป็นอาชีพที่ได้รับความภาคภูมิใจในฐานะที่ได้มีส่วนช่วยให้ลูกค้าหรือผู้ว่าจ้างเห็นแนวทางที่จะเดินไปอย่างมั่นคงและประสบความสำเร็จ และคนในสังคมรับรู้การมีอยู่ของแบรนด์นั้นๆ รับรู้ถึงแบรนด์ที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน มีความคุ้มค่า ซึ่งถ้าหากไม่สื่อสารออกไปสังคมก็อาจจะเสียโอกาสดีๆ
- ความท้าทายในอาชีพ คือ การทำงานภายใต้แรงกดดันและความคาดหวังจากทุกฝ่ายที่อยากให้สินค้าและบริการของตัวเองสามารถสร้างมูลค่าต่อได้ ทำให้นักพัฒนาแบรนด์บางคนอาจมีปัญหาด้านสุขภาพกายและใจ เช่น ออฟฟิศซินโดรม นอนไม่หลับ ความเครียด เป็นต้น
- เงินเดือนและค่าตอบแทนของอาชีพนี้จะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ผลงานและชื่อเสียงที่สั่งสมมา หากสังกัดบริษัทจะได้รับเป็นเงินเดือนและจะมีสวัสดิการอื่นๆ ตามระเบียบบริษัท ซึ่งโดยปกติเงินเดือนตั้งต้นจะไม่สูงมาก เนื่องจากประสบการณ์ยังน้อย แต่หากมีผลงานที่น่าดึงดูดก็สามารถขยับฐานเงินเดือนได้เป็นหลักแสนต่อเดือน หากทำเป็นอาชีพอิสระจะได้รับค่าตอบแทนตามที่ตกลงในแต่ละโปรเจกต์
🖥️ ช่องทางการศึกษาความรู้เพิ่มเติม
- ศึกษาด้วยตัวเองผ่าน Youtube หรือ Vimeo แหล่งรวบรวมผลงานและไอเดียที่เกิดจากการคิดและพัฒนาแบรนด์มากมาย ลองใช้คำค้นหา “Brand Developer” หรือ “Brand Development” (https://www.youtube.com/results?search_query=Brand+Developer)
📚 ข้อมูลสายการเรียนที่เกี่ยวข้อง
มัธยมศึกษาตอนปลาย
- สายวิทย์-คณิต
- สายศิลป์-คำนวน
- สายศิลป์-ภาษา
- ปวช. หรือเทียบเท่า *บางสถาบันรับสายนี้
ปริญญาตรี เช่น
- คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการโฆษณาและการสื่อสารตราสินค้า
- คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาการตลาด
- คณะการสื่อสารมวลชน การสื่อสารการตลาด
- คณะนิเทศศาสตร์ สาขาออกแบบสื่อสารออนไลน์
- คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และสื่อสารการตลาด
- คณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาดดิจิทัล
- คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการตลาดดิจิทัล
- คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร สาขาวิชานวัตกรรมและการตลาดเชิงสร้างสรรค์
- คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ วิชาเอกการตลาด
ปริญญาโท เช่น
- คณะการสื่อสารมวลชน ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต การสื่อสารการตลาด
- คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการสื่อสารสารการตลาดดิจิทัล
- คณะนิเทศศาสตร์ นิเทศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมดิจิทัล การสื่อสารการตลาดและแบรนด์
- คณะนิเทศศาสตร์ นิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด
- คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด
- คณะการบัญชีและการจัดการ บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมการจัดการการตลาดสมัยใหม่
- คณะบริหารธุรกิจ หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต กลุ่มวิชาการตลาดเพื่ออนาคต
- คณะบริหารธุรกิจ บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด
- คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด
ปริญญาเอก เช่น
- คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด
- คณะการบัญชีและการจัดการ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมการจัดการการตลาดสมัยใหม่
- คณะนิเทศศาสตร์ นิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด
*ข้อมูล ณ ปี 2567
🌐 แหล่งอ้างอิง