
นิยามสั้นๆ
เป็นที่ปรึกษาในด้านภาพรวม คิดแผนกลยุทธ์ และแผนระยะกลางเสนอให้กับบริษัทต่าง ๆ
📃 ลักษณะงาน
- ทำความเข้าใจรูปแบบธุรกิจและความต้องการของลูกค้า
- วางแผนการทำงาน เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล
- นำเสนอแผนและแนวทางปฏิบัติเพื่อการทำงาน
- บางครั้งอาจมีการทำงานร่วมกับลูกค้าในการเริ่มต้นปฏิบัติตามแผนที่ได้วางไว้
📊 ขั้นตอนการทำงาน
- รับโจทย์จากลูกค้าที่โดยมากจะเป็นตำแหน่ง Managing Director หรือ Project Manager ขององค์กร
- พูดคุยเพื่อทำความเข้าใจโจทย์และลักษณะธุรกิจของลูกค้า
- วางกรอบการทำงาน (Framework) กำหนดวิธีการเก็บข้อมูลที่เหมาะสม และระบุสิ่งที่ต้องทำเพื่อตอบโจทย์ที่ได้รับมา
- เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล หาทางออกและแผนการทำงานไปเสนอให้กับลูกค้า
- นำเสนอแผนการทำงาน (Implementation Plan) พร้อม กำหนดสิ่งที่ต้องทำและกรอบเวลาให้กับลูกค้า
👩🏻💻 อาชีพที่ต้องทำงานร่วมกัน
ส่วนมากเป็นบุคลากรในบริษัทของลูกค้า และบริษัทอื่น ๆ ที่มาร่วมทำงาน (Outsource)
- บุคลการในบริษัทของลูกค้าแบ่งออกเป็นสองกลุ่มดังนี้
- กลุ่มทำงาน (Working Team) ที่จะติดต่อและขอข้อมูลเพิ่มเติม ส่วนมากเป็นอาชีพด้านการเงิน การตลาด และฝ่ายขาย เนื่องจากโจทย์ส่วนมากที่บริษัทต้องการขอคำปรึกษามักจะเป็นเรื่องการเพิ่มยอดขายและการขยายบริษัทให้เติบโต
- กลุ่มผู้บริหาร (CEO) ที่จะนำแผนการดำเนินงานไปเสนอ
- บริษัท Outsource แล้วแต่กรณีขึ้นอยู่กับการทำงาน เช่น บริษัทที่ทำการวิจัยการตลาด เป็นต้น
🏢 สถานที่และเวลาทำงาน
เวลาเข้างานและเลิกงาน ลักษณะการทำงาน รวมถึงสถานที่ทำงาน ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรที่ทำงานด้วย
- โดยมากทำงาน 10:00-18:00 น.
- ส่วนสถานที่ทำงานขึ้นอยู่กับช่วงเวลาขั้นตอนที่กำลังทำงาน
- ช่วงที่เก็บข้อมูลและวิเคราะห์
- อาจทำงานที่ออฟฟิศหรือลงพื้นที่เก็บข้อมูล คุยกับลูกค้า (ของบริษัทลูกค้า) จริงๆ
- อาจเก็บข้อมูลเชิงลึก (Insight) กับทีมทำงานของบริษัทลูกค้า อาจไปคุยที่บริษัทลูกค้าหรือไปที่หน้างานที่ทีมงานทำงาน
- หากลูกค้าต้องการทำงานใกล้ชิด อาจไปทำงานที่บริษัทลูกค้า
- ช่วงนำเสนอความคืบหน้าและแผนการดำเนินงาน
- เตรียมงานนำเสนอที่ออฟฟิศ อาจต้องอยู่ดึกหากเป็นงานเร่งด่วน
- ไปนำเสนอที่บริษัทลูกค้า
✅ ความรู้ความสามารถที่ต้องใช้
- วามรู้ ความเข้าใจ หรือสนใจเกี่ยวกับธุรกิจและอุตสาหกรรม
- ความคิดที่มีระบบ มีตรรกะ และมีโครงสร้าง (Logical Thinking และ Structural Thinking) เพื่อช่วยในการวางกรอบการทำงาน
- ใช้เหตุผลในการตัดสินใจมากกว่าอารมณ์ความรู้สึก
- ความยืดหยุ่น ปรับตัวและแก้ไขตามสถานการณ์
- ความสามารถในการนำเสนอ การสื่อสารที่ชัดเจนเข้าใจง่าย น่าเชื่อถือ
- มีบุคลิก การแต่งกาย การวางตัวที่น่าเชื่อถือ
💵 โอกาส ความท้าทาย และผลตอบแทน
- เป็นอาชีพที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ และไม่จำเป็นต้องเรียนจบด้านธุรกิจมา แต่ต้องมีความรู้เข้าใจหรือสนใจเกี่ยวกับธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ
- สายการเรียนที่ส่งเสริมให้ทำงานที่ปรึกษาธุรกิจได้ง่ายมักเป็นสาขาบัญชี-บริหาร บัญชี-บัญชี เศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เนื่องจากมีระบบความคิดที่เป็นตรรกะ ส่วนความรู้ด้านธุรกิจสามารถหาเพิ่มเติมได้
- การรับเข้าทำงานอาจมีการให้ทดลองวางกรอบการทำงานและอธิบาย (Case Interview) โดยอาจมีการทดสอบสองรอบ รอบแรกให้โจทย์เป็นการบ้าน และส่งการนำเสนอ (Presentation) เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วจึงเรียกมาสัมภาษณ์เพิ่มเติมและทดลองทำ Case Interview ตอนสัมภาษณ์อีกครั้ง
- ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ตลอดเวลา เพราะความหลากหลายของลูกค้า
- เป็นอาชีพที่ท้าทายการเรียนรู้มาก ต้องเรียนรู้กว้าง ลึก และเร็ว ทั้งในการคิดวิเคราะห์ การสื่อสารกับคน การวางตัว แต่ก็ได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่า
- ขนาดของบริษัทที่ปรึกษามีหลายขนาด อาจเป็นองค์กรใหญ่ที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูงในแต่ละโปรเจค หรือเป็นบริษัทขนาดเล็ก ไปจนถึงเป็นฟรีแลนซ์ที่รับให้การปรึกษาทางธุรกิจ
- แต่ละบริษัทที่ปรึกษามีฐานลูกค้าที่แตกต่างกันไป เช่น บางบริษัทดูแลบริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจ หรือบางบริษัทมีลูกค้าในต่างประเทศด้วย
- เงินเดือนตอบแทนขึ้นอยู่กับบริษัทที่ทำงานด้วย หากทำงานในบริษัทที่ปรึกษาที่ใหญ่ที่สุดในวงการ หรือที่เรียกว่า Big Three (MBB) ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัท McKinsey & Company, Boston Consulting Group, และ Bain & Company เงินเดือนเริ่มต้นจะสูงมาก เป็นหลักแสนบาท หากเป็นบริษัทอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นบริษัทสากลระหว่างประเทศส่วนใหญ่เงินเดือนจะประมาณ 30,000-50,000 บาท
- ลำดับตำแหน่งการทำงานในบริษัท อาจเรียงลำดับได้ดังนี้
- ผู้ช่วยที่ปรึกษา (Associate Consultant)
- ผู้ช่วยที่ปรึกษาอาวุโส (Senior Associate Consultant)
- ที่ปรึกษา (Consultant)
- ผู้จัดการโครงการ (Project Manager)
- อาจได้เป็นหุ้นส่วนของบริษัท (Partner)
- หากออกมาเปิดบริษัทของตัวเอง อาจทำงานในด้านกลยุทธ์พัฒนาธุรกิจได้
- สถานการณ์และเทคโนโลยีในวงการธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นความท้าทายในการวางแผนที่นำไปปฏิบัติได้จริง รวมไปถึงความพร้อมที่จะรับมือความเปลี่ยนแปลงนี้
- โดยการปรับตัวรับเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีแนวโน้มในการปรับตัวสองทาง
- บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจเข้าไปร่วมดำเนินการตามแผนที่วางไว้ด้วย เพื่อดูว่าสามารถปฏิบัติได้จริงในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วหรือไม่ เช่น บางคร้ังวางแผนปฏิบัติการไว้ 3 ปี แต่เพียง 1 ปี ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดแล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดเร็วขึ้นเรื่อยๆ
- บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจผันไปทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาาญเฉพาะด้านมากขึ้น หาทางออกด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร (IT Solution) มากขึ้น หรือดูการเปลี่ยนผ่านของบริษัทให้มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น
- สิ่งที่ต้องแลกมาคือการทำงานหนักและความเครียดจากการทำงาน ซึ่งสามารถจัดการได้ด้วยการพยายามทำงานให้เสร็จตามเวลา
- ได้เจอคนใหม่ๆ เรียนรู้อุตสาหกรรมใหม่ๆ โจทย์ใหม่ๆ ตลอดเวลา
- อาจได้ทำงานที่มีผลกระทบกับทางสังคม เช่น งานรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรต่างๆ (CSR) และเป็นการทำงานที่ม่ีผลกระทบต่อคน พนักงาน การจ้างงานขององค์กร
🖥️ ช่องทางการศึกษาความรู้เพิ่มเติม
หนังสือ
Case Interview Secrets: A Former McKinsey Interviewer Reveals How to Get Multiple Job Offers in Consulting
โดย Victor Cheng
Case in Point
โดย Marc Patrick Cosentino
Youtube
https://www.youtube.com/user/caseinterview