ข้อมูลอาชีพนักพัฒนาชุมชน

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม 2565 เวลา 05:02 • ใช้เวลาอ่าน 2 นาที
House searching-pana.png

 

นิยามสั้นๆ

 

ผู้ที่เป็นเพื่อนกับชุมชน ที่คอยช่วยเหลือ อยู่ข้าง ๆ ทั้งในยามทุกข์และสุข

 

ลักษณะงาน
  • เรียนรู้และทำความรู้จักชุมชน เก็บข้อมูล ประเมินสถานการณ์และปัญหาในชุมชน 
  • ทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน เพื่อให้สังคมดีขึ้นมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ขั้นตอนการทำงาน

โดยทั่วไปมีขั้นตอนในการทำงานดังนี้

  • รับข้อมูลเบื้องต้นก่อนลงไปในพื้นที่ และศึกษาเรียนรู้ ทำความรู้จักชุมชน รวมถึงบริบทและภาพรวมของชุมชนเมื่อลงไปในพื้นที่
  • เข้าหาคนในชุมชน แนะนำตัว สร้างความสัมพันธ์ สร้างความไว้ใจ เก็บข้อมูลเพิ่มเติม
  • วิเคราะห์สถานการณ์ แจกแจงปัญหาที่พบในชุมชน 
  • วิเคราะห์แต่ละปัญหา วิธีการแก้ไข แบ่งงาน หาหน่วยงานหรือทีมงานที่จะช่วยสนับสนุน
  • เลือกปัญหาแรก (แก้ทีละปัญหา) ที่ต้องการจะแก้ร่วมกันกับชุมชน
  • ประสานกับชุมชน ดำเนินการและสนับสนุนการแก้ปัญหาร่วมกับชุมชน 
อาชีพที่ต้องทำงานร่วมกัน

ขึ้นอยู่กับปัญหาหรือประเด็นที่ทำงาน โดยทั่วๆ ไปต้องทำงานประสานกับอาชีพต่างๆ เช่น

  1. หน่วยงานการปกครองของรัฐ เช่น เจ้าหน้าที่อำเภอ ปลัดอำเภอ การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
  2. หน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงมหาดไทย กรมที่ดิน เป็นต้น
  3. ทนายความ 
  4. สถาปนิก หรือ สถาปนิกชุมชน
  5. วิศวกร 
  6. สื่อมวลชน
สถานที่และเวลาทำงาน
  • เวลาทำงานไม่เป็นเวลา ขึ้นกับตารางชีวิตของกลุ่มคนที่ต้องไปทำงานด้วย เช่น ชุมชนในกรุงเทพฯ ที่ทำงานในช่วงเวลากลางวัน นักพัฒนาชุมชนต้องไปลงพื้นที่ในช่วงเวลากลางคืน ชุมชนมุสลิมจะว่างวันศุกร์ กลุ่มคนทำงานกลางคืนจะว่างช่วงบ่าย เป็นต้น 
  • ส่วนเวลาในการติดต่อเอกสาร หรือองค์กรต่าง ๆ มักทำในตอนเช้า หรือเวลาทำการขององค์กรนั้น ๆ
  • สถานที่ทำงานมีทั้งการลงพื้นที่ และการทำงานในออฟฟิศ
    • งานลงพื้นที่ สถานที่ทำงานแล้วแต่พื้นที่ทำงาน เช่น หมู่บ้านชาวประมง ชุมชนแออัด หมู่บ้านในภูเขา เป็นต้น โดยทางองค์กรหรือแหล่งทุนจะสนับสนุนค่าที่พักและค่าอาหารให้
    • ทำงานในออฟฟิศ เช่น งานที่ต้องประชุมกับทีมงาน สรุปบทเรียน สรุปค่าใช้จ่าย ประสานงาน งานเอกสาร การเงิน ขึ้นอยู่กับข้อตกลงและการออกแบบการทำงานของตนเอง ว่าต้องเข้าออฟฟิศหรือไม่ อย่างไร
  • หากทำงานลงพื้นที่ ต้องทำงานตลอดเวลาที่มีงาน ไม่มีวันหยุดราชการหรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ 
  • สามารถลางานเพื่อพักผ่อนได้ได้ แต่ต้อง stand by พร้อมตลอด เพราะชุมชนไม่ได้รับรู้ถึงการลาหยุดพักของนักพัฒนาชุมชน 
ความรู้ความสามารถที่ต้องใช้
  1. สิ่งสำคัญที่สุด ต้องมีใจ และต้องมีความกล้าในการลุกขึ้นมาเรียกร้องความถูกต้อง
  2. มีความรู้เรื่องโครงสร้างทางสังคม บริบททางสังคม ความรู้เรื่องชุมชน เรื่องมนุษย์
  3. มีความรู้เรื่องอื่น ๆ เช่น ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี เป็นต้น
  4. มีรูปแบบการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง พร้อมจะเรียนรู้ไปกับคนใหม่ ๆ ที่ได้เจอ
  5. มีทักษะการวิเคราะห์ปัญหาและสถานการณ์
  6. มีไหวพริบ สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จัดการหน้างานได้
  7. ทักษะภาษาอังกฤษมีความจำเป็นมาก เพื่อใช้สื่อสารและประสานงานกับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะเมื่อต้องขอความช่วยเหลือ หรือประสานงานด้านวิชาการ 
  8. ทักษะภาษาท้องถิ่นไม่ได้เป็นข้อบังคับ ขอเพียงมีความตั้งใจที่จะสื่อสารและเรียนรู้
โอกาส ความท้าทาย และผลตอบแทน
  • ไม่มีจำกัดอายุ ทำงานเป็นนักพัฒนาชุมชนได้ตลอดชีวิต
  • ไม่จำกัดสาขาที่เรียน ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา
  • ค่าตอบแทนที่ได้รับ ขึ้นอยู่กับองค์กรที่สังกัด อาจได้รับเป็นเงินเดือนซึ่งพิจารณาตามวุฒิและความสามารถ เงินเดือนวุฒิปริญญาตรี ประมาณ 16,500 บาท หรือได้รับค่าตอบแทนเป็นเบี้ยยังชีพ เงินที่ได้จากโครงการ จากการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการ จำนวนไม่แน่นอนและไม่เท่ากันทุกโครงการ 
  • มีลำดับตำแหน่งการทำงาน แล้วแต่สังกัด เช่น
    • ทำงานองค์กร เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จะมีระบบเหมือนราชการ เริ่มจาก นักปฏิบัติการชุมชน นักปฏิบัติการชุมชนอาวุโส หัวหน้าปฏิบัติการชุมชน ชำนาญการพิเศษปฏิบัติการชุมชน รองผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการ 
    • ทำงานในมูลนิธิ เป็นนักปฏิบัติการชุมชน กรรมการมูลนิธิ ที่ปรึกษาโครงการ ที่ปรึกษาชุมชนหรือที่ปรึกษาเครือข่าย
    • ทำงานในสถาบันอื่น ๆ ที่ไม่ใช่องค์กรใหญ่ จะเป็นตำแหน่งนักปฏิบัติการชุมชน อาจมีตำแหน่งอื่นพ่วงขึ้นกับความชำนาญหรือตำแหน่งที่ทำงานที่อื่นด้วย เช่น เป็นอาจารย์ด้านวิชาการ เป็นต้น
  • สิ่งที่ต้องแลกมา
    • สุขภาพกาย: ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ จากการทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ
    • สุขภาพจิตใจ: มีความกดดันและความเครียดในการทำงาน เป็นโรคซืมเศร้า
  • ในช่วงโควิดหรือช่วงที่มีภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ นักพัฒนาชุมชนจะมีงานเพิ่มขึ้นมาก เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
  • การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม เทคโนโลยี ไม่ได้มีผลกระทบที่ทำให้นักพัฒนาชุมชนตกงาน ตราบใดที่ยังมีคนมีปัญหา นักพัฒนาชุมชนต้องทำงานต่อไป
ช่องทางการศึกษาความรู้เพิ่มเติม

คลองเตยดีจัง

https://www.facebook.com/khlongtoeydeejung/


 

Feel Trip

https://www.facebook.com/FeelTripTH


 

กลุ่มดินสอสี

https://www.facebook.com/dinsorseefans/


 

พลเมืองอาสา

https://www.facebook.com/profile.php?id=100066801588620


 

สามแพร่ง facestreet

https://www.facebook.com/sampraengfacestreet/

 

ข้อมูลสายการเรียนที่เกี่ยวข้อง

มัธยมศึกษาตอนปลาย

  • สายวิทย์-คณิต
  • สายศิลป์-คำนวณ
  • สายศิลป์-ภาษา
  • ปวช. หรือเทียบเท่า *บางสถาบันรับสายนี้

 

ปริญญาตรี เช่น 

  • คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาบ้านและชุมชน
  • คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชาสังคมวิทยาเพื่อการพัฒนา สาขาวิชาวิชาเอกการพัฒนาชุมชนเมือง
  • คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาพัฒนาสังคม
  • คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชนและสังคม
  • คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชานวัตกรรมการพัฒนาสังคม
  • คณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาสหวิทยาการและการพัฒนาท้องถิ่น 
  • คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชนและนวัตกรรมสังคม
  • คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ศาสตรบัณฑิต

 

ปริญญาโท เช่น 

จบ ป.ตรี สาขาใดก็ได้ แต่ต้องศึกษาเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติต่างๆ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ความรู้เกี่ยวกับการทำแผนพัฒนาด้านอื่นๆ เพิ่มเติม 

  • คณะศิลปศาสตร์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม
  • สถาบันวิจัยสังคม ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม
  • คณะสังคมศาสตร์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาสังคม 
  • คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาชุมชนและสังคม
  • คณะรัฐศาสตร์ ศิลปศาสตรมหาบณฑิต สาขาวิชายุทธศาสตร์การพัฒนา
  • คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต 

 

ปริญญาเอก เช่น

  • คณะศิลปศาสตร์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนามนุษย์และสังคม
  • คณะสังคมศาสตร์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพัฒนาสังคม 
  • คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม 
  • คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานโยบายสังคม

 

*ข้อมูล ณ ปี 2567

 

 

 

890

แนะนำอาชีพใกล้เคียง

ไม่มีข้อมูล

รู้จักอาชีพผ่านกิจกรรม

ไม่มีข้อมูล