
นิยามสั้นๆ
ผู้ดูแลจิตใจ เป็นเหมือนเพื่อนร่วมทางให้กับคนที่มีความไม่สบายใจบางอย่างที่เข้ามาใช้บริการ ให้เขาสามารถเข้าใจสภาวะที่กำลังเผชิญ รวมถึงค้นพบแนวทางจัดการเพื่อรับมือกับเรื่องที่ไม่สบายใจได้
📃 ลักษณะงาน
นักจิตวิทยาการปรึกษาจะเปิดพื้นที่ปลอดภัยเพื่อใช้การพูดคุย การรับฟัง หรือวิธีการต่างๆ เพื่อสำรวจความไม่สบายใจ (ซึ่งอาจเกิดจากเรื่องที่กระทบจิตใจ หรือการแสดงออกทางกาย เช่น นอนไม่หลับ ใจสั่น เป็นต้น) โดยทั้งนักจิตวิทยาการปรึกษาและผู้ใช้บริการ (เรียกว่า Client หรือ Case) จะทำงานร่วมกันผ่านกระบวนการจิตวิทยา เพื่อค้นหาที่มาที่ไปของความไม่สบายใจในตัวผู้ใช้บริการ เพื่อช่วยให้กลับมาเข้าใจตัวเอง และใช้ศักยภาพของตนเองในการรับมือและคลี่คลายสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในใจได้
วิธีการต่างๆ หรือเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารและบำบัด ยกตัวอย่างเช่น การบำบัดด้วยการพูดคุย (Talk Therapy), จิตบำบัดแบบอีเอ็มดีอาร์ (Eye Movement Desensitization and Reprocessing - EMDR Therapy), การบำบัดในถาดทราย (Sand Tray Therapy) เป็นต้น ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีการไม่เหมือนกัน
📊 ขั้นตอนการทำงาน
ขั้นตอนการทำงานของนักจิตวิทยาการปรึกษาในการให้บริการ
- เตรียมความพร้อมตัวเอง และสถานที่ให้มีบรรยากาศความรู้สึกปลอดภัย เป็นมิตร ก่อนการพูดคุย
- เริ่มการพูดคุย ทำความรู้จัก
- รับฟังเรื่องราว จับประเด็นสิ่งที่ทำให้ไม่สบายใจ อาจมีการจัดกลุ่มข้อมูลและเรียงลำดับเหตุการณ์หรือเรื่องราว
- สะท้อนสิ่งที่รับฟังกลับให้ผู้ใช้บริการ เพื่อทวนความเข้าใจให้ตรงกัน (ขั้นตอนนี้ นอกจากจะเป็นการรับฟังอย่างตั้งใจแล้ว การทวนเรื่องราวกลับโดยไม่ใส่ความคิดเห็นส่วนตัว หรือท่าทีตัดสินผิดหรือถูก จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักจิตวิทยาการปรึกษากับผู้ใช้บริการด้วย)
- ใช้องค์ความรู้ทางด้านจิตวิทยา ทุกษะ กระบวนการการพูดคุย และความชำนาญ มาบูรณาการกัน ชวนให้ผู้ใช้บริการค้นพบสาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ และมองเห็นแนวทางการรับมือต่อไป
- ทบทวนและบันทึกกระบวนการทำงานและการพูดคุย (case record)
- หาช่วงเวลาในการดูแลจิตใจและร่างกายตนเองให้แข็งแรง เช่น ออกกำลังกาย มีช่วงเวลาในการพักผ่อน ทำงานอดิเรกที่ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย ฯลฯ เพื่อช่วยให้กายและใจพร้อมสำหรับการทำงาน
👩🏻💻 อาชีพที่ต้องทำงานร่วมกัน
ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่สังกัด ตัวอย่างลักษณะองค์กรและอาชีพต่างๆ ที่นักจิตวิทยาการปรึกษาอาจร่วมทำงานด้วย เช่น
- กรณีที่ผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์ และจิตแพทย์ตรวจวินิจฉัย สั่งยาแล้ว จิตแพทย์อาจส่งต่อให้นักจิตวิทยาการปรึกษาทำงานบำบัดร่วมกับการรักษาจากจิตแพทย์ หรือทำงานในศูนย์การให้การปรึกษาที่มีจิตแพทย์ด้วย ก็อาจได้ทำงานร่วมกับจิตแพทย์
- ถ้าทำงานเกี่ยวกับการดูแลเด็ก หรือผู้ถูกกระทำการรุนแรง จะเป็นการทำงานที่เป็นสหวิชาชีพ คือทำงานร่วมกับหลากหลายวิชาชีพเพื่อการดูแลเด็กและผู้ถูกกระทำ เช่น นักสังคมสงเคราะห์ แพทย์ (ที่รักษาทางร่างกาย) ตำรวจ นักจิตวิทยา นักบำบัด นักกฎหมาย ทนายความ
- ถ้าทำงานสังกัดหน่วยจิตวิทยา อาจได้ทำงานร่วมกับนักจิตวิทยาด้วยกัน
🏢 สถานที่และเวลาทำงาน
- เวลาทำงานจะขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่สังกัด เช่น ศูนย์ให้การปรึกษาอาจมีเวลาทำการเวลา 9.00 - 17.00 น. บางวันอาจจะมีเปิดเวลาพิเศษเพิ่มจากเวลาทำการ เช่น 17.00 - 20.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนที่ต้องทำงานประจำ หรือผู้ที่ไม่สะดวกมาเวลาปกติ
- การให้บริการแต่ละครั้งอาจใช้เวลาในการทำงานประมาณ 60 - 90 นาที ใน 1 วัน หากทำงานตั้งแต่ 9.00-17.00 น. ช่วงเช้าอาจจะให้บริการได้ 2 คน ช่วงบ่ายอีก 2 คน เป็นต้น
- ทั้งนี้ช่วงเวลาในการทำงานและจำนวนในการรับเคสแต่ละวัน อาจมีการปรับเปลี่ยนขึ้นอยู่กับตารางการทำงานของนักจิตวิทยาแต่ละคนและองค์กร
✅ ความรู้ความสามารถที่ต้องใช้
- ทักษะการฟัง นักจิตวิทยาการปรึกษาต้องผ่านการฝึกฝนการฟังมาอย่างเข้มข้น เป็นการฟังแบบไม่ใช่แค่การได้ยินคำพูด แต่ต้องได้ยินความรู้สึกบางอย่างที่ไม่ได้ถูกพูดออกมา ต้องฝึกได้ยินความต้องการ ต้องมีความละเอียดอ่อนและใส่ใจ นอกจากนี้ การฟังที่ดีจะช่วยทำให้ผู้ได้รับการรับฟังรู้สึกปลอดภัยด้วย
- ทักษะการจับประเด็น เมื่อฟังแล้วต้องจับประเด็นได้ว่ามีความไม่สบายใจประเด็นไหนบ้างที่เข้ามา กระทบจิตใจผู้ใช้บริการ
- ทักษะการทวน การสะท้อน และสรุปในสิ่งที่ได้ยิน สำหรับใช้เป็นตัวช่วยในการตรวจสอบว่านักจิตวิทยาการปรึกษาและผู้ใช้บริการมีความเข้าใจตรงกันหรือไม่ หากไม่ตรงกัน ผู้ใช้บริการสามารถแก้ไขเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และจะเป็นช่วงเวลาที่สร้างความสัมพันธ์ การรู้จัก การไว้ใจ และการเปิดใจระหว่างกันด้วย
- ทักษะในกระบวนการให้การปรึกษา ซึ่งประกอบไปด้วยทักษะการทำกระบวนการและทฤษฎี นักจิตวิทยาการปรึกษาต้องนำข้อมูลและความรู้มาประสานและประมวลผล เพื่อเลือกแนวทางที่เหมาะกับประเด็นปัญหาที่แท้จริงของผู้ใช้บริการ
- ที่เหมาะกับผู้ใช้บริการ ซึ่งจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละคนและแต่ละประเด็นความไม่สบายใจ
- ทักษะและจรรยาบรรณในการส่งต่อโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ใช้บริการเป็นหลัก เมื่อนักจิตวิทยาการปรึกษาประเมินแล้วว่าความสามารถที่ตนมีไม่ครอบคลุมในประเด็นที่จะทำกระบวนการให้การปรึกษากับผู้ใช้บริการได้ ต้องส่งต่อให้นักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถเฉพาะทางในด้านนั้นๆ รวมถึงการขออนุญาตส่งต่อข้อมูลของผู้ใช้บริการอย่างราบรื่น ไม่ทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยหรือรู้สึกเหมือนถูกโยนไปให้คนอื่นรับช่วงต่อ
- มีบุคลิกชอบทำความรู้จักคน อยากผูกมิตร ทำความเข้าใจคน รวมถึงเข้าใจตนเอง
- ชอบพัฒนาตนเอง รักการเติบโตภายใน รักการเรียนรู้ เพราะการประกอบอาชีพนี้ถือเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- มีคุณสมบัติเข้าใจเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) มีจิตใจอยากช่วยเหลือผู้อื่น อยากช่วยสนับสนุนผู้อื่น
- ต้องพัฒนาตัวเองตลอดชีวิต ต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เรียนรู้จากการจำหรือฝึกเฉพาะทักษะที่ต้องใช้ แต่เป็นการเรียนรู้ชีวิต ขัดเกลาตัวเอง และเติบโต
💵 โอกาส ความท้าทาย และผลตอบแทน
- เป้าหมายหลักอาจจะไม่ใช่การได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เป็นการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้นตลอดชีวิต
- เงินเดือนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับองค์กรที่ทำงาน ตัวอย่างเช่น
- ทำงานประจำในองค์กรเอกชน อาจได้เงินเดือนประมาณ 28,000 - 35,000 บาท ขึ้นอยู่กับองค์กร ขนาดองค์กร และความเชี่ยวชาญของนักจิตวิทยาการปรึกษาเอง
- ทำงานแบบ Part-time จะมีรายได้คิดตามจำนวนครั้งของการให้การปรึกษา อาจได้ค่าตอบแทน Case ละ 800 - 3,000 บาท ขึ้นอยู่กับองค์กร
- นักจิตวิทยาการปรึกษาไม่ได้เป็นอาชีพที่มีเส้นทางเติบโตในอาชีพ (Career Path) ที่มุ่งไปสู่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการสะสมประสบการณ์ชั่วโมงทำงานมากกว่า ซึ่งนักจิตวิทยาการปรึกษาอาจเริ่มจากการให้การปรึกษาเรื่องทั่ว ๆ ไปในหลากหลายประเด็น จากนั้นเมื่อทำงานมากขึ้นจนมีความถนัดหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น อาจสามารถเลือกทำงานเฉพาะประเด็น หรือเลือกใช้เครื่องมือที่เจาะจงตามความถนัดและเชี่ยวชาญได้
- เป็นอาชีพที่ไม่มีกำหนดเกษียณ สามารถทำงาน ได้แม้อายุ 70 ปี ขอเพียงมีความพร้อมเหมาะสมสำหรับการให้บริการ
- ผลตอบแทนจากการประกอบอาชีพนี้นอกจากเงินคือ การได้ทำงานที่มีคุณค่าทางใจ ซึ่งเป็นความหมายของการมีชีวิตอยู่เมื่อรู้ว่าได้เป็นประโยชน์ ไดัเป็นเพื่อนคู่คิดไปพร้อมกับผู้ใช้บริการ และได้อยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญเมื่อผู้ใช้บริการกลับมามีศักยภาพอีกครั้ง
- เป็นอาชีพที่เป็นการทำงานกับคน กับการมีชีวิตอยู่ การทำงานแต่ละครั้งเป็นการเดินทางเข้าไปในแต่ละชีวิต ทำให้เข้าใจโลก เห็นมุมมองการใช้ชีวิต และเติบโตภายในไปพร้อมๆ กับผู้ใช้บริการ
- เป็นการทำงานที่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เพราะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลที่มารับบริการ รวมถึงปัจจัยหลายๆ อย่าง จนบางครั้งอาจทำให้รู้สึกท้อเมื่อเจอผู้ใช้บริการที่มีสภาวะการณ์ที่ท้าทายสูง
- เป็นอาชีพที่ต้องเรียนรู้และมีผู้สนับสนุนให้คำแนะนำ (Supervision) เสมอ ทั้งจากกลุ่มเพื่อนร่วมอาชีพ (Peer Group) หรือผู้ที่มีประสบการณ์ความรู้มากกว่า ซึ่งการได้รับการ Supervision นี้ทำให้นักจิตวิทยาการปรึกษาได้เข้าใจตัวเองไปด้วย
- ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพนักจิตวิทยาการปรึกษา ทำให้ยังไม่มีการควบคุมมาตรฐานและขอบเขตความสามารถที่ชัดเจน โดยปกติจำเป็นต้องศึกษาจบในด้านนี้ในระดับปริญญาโท
- นักจิตวิทยาการปรึกษาอาจได้รับความคาดหวังจากคนรู้จักที่อยากจะมาคุยด้วยเพื่อรับคำแนะนำหรือวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งอาจต้องบอกขอบเขตความช่วยเหลือที่สามารถให้ได้อย่างชัดเจน หรือแนะนำหน่วยงานที่สามารถให้บริการได้หากเป็นคนรู้จักที่มีความสัมพันธ์ทับซ้อนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องที่ไม่สบายใจอยู่
- การรับฟังและการทำความเข้าใจเห็นอกเห็นใจผู้อื่น อาจทำให้นักจิตวิทยาการปรึกษาซึมซับความรู้สึกของผู้ใช้บริการมาได้ ดังนั้นนักจิตวิทยาการปรึกษาต้องคอยดูแลจิตใจตนเองด้วย
- เป็นอาชีพที่นั่งนานติดต่อกันอย่างน้อย 1 - 1.5 ชั่วโมง/ ครั้ง ควรต้องดูแลกล้ามเนื้อต่างๆ และสุขภาพร่างกายรวมถึงการกินอาหารที่มีประโยชน์ด้วย
- ปัจจุบันมีการพัฒนา AI มาใช้เป็นเครื่องมือในการช่วยคัดกรองหรือให้คำแนะนำเบื้องต้นได้ แต่ AI ไม่สามารถให้การปรึกษา หรือการบำบัดได้ เนื่องจากจิตใจคนมีความซับซ้อนและมีความแตกต่างขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล จึงยังจำเป็นต้องใช้นักจิตวิทยาที่เป็นคนในการให้การปรึกษาและการบำบัด
- แนวโน้มการทำงานอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การทำงานเทรนนิ่ง หรือการทำงานเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยา เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจและป้องกัน เช่น การสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจเพื่อให้คนรู้จักดูแลตัวเอง (Self Care) การให้ความรู้วิธีการเสริมสร้างให้คนมีกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) การให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อให้คนสามารถจัดการเหตุการณ์เบื้องต้นได้ เป็นต้น
- ปัจจุบันสังคมมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักจิตวิทยาการปรึกษาต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ต้องปรับการทำงานให้เข้ากับประเด็นสังคมที่เกิดเหตุเป็นวงกว้าง ซึ่งที่ผ่านมานักจิตวิทยาการปรึกษามักถูกฝึกมาให้ทำงานเชิงเดี่ยว (รายบุคคล) การทำงานให้การปรึกษาและการบำบัดเชิงกลุ่มยังพบน้อยมาก
🖥️ ช่องทางการศึกษาความรู้เพิ่มเติม
- เว็บไซท์หรือข้อมูลขององค์กร/ หน่วยงานที่ให้การปรึกษาโดยนักจิตวิทยาการปรึกษา ถ้าเข้าไปดูรายละเอียดจะเห็นว่านักจิตวิทยาการปรึกษาแต่ละคนมีความชำนาญด้านใดบ้าง รวมถึงรายได้ ค่าบริการต่อ Session รวมถึงการเห็นพื้นที่ทำงาน โลกและบริบทของนักจิตวิทยาการปรึกษาและคนอื่นๆ ในที่ทำงานนั้นได้
- ลองใช้บริการนักจิตวิทยาการปรึกษาดู ในวันที่รู้สึกไม่สบายใจ จะเข้าใจการทำงานและได้รับประสบการณ์ตรง หลังจากนั้นแล้วค่อยมาพิจารณาว่ารู้สึกยังไงบ้าง
- ฟัง Podcast และสื่อต่างๆ ที่นักจิตวิทยาการปรึกษาใช้เป็นช่องทางการสื่อสาร เช่น ฟังเรื่องการดูแลตัวเอง แล้วพิจารณาว่าชอบหรือไม่ รู้สึกอย่างไร
- ลองถามพี่ๆ ที่รู้จักหรือเคยมีประสบการณ์การรับบริการ หรือคุยกับคนที่ทำอาชีพนั้นจริงๆ เพื่อจะได้ถามสิ่งที่สงสัยได้
📚 ข้อมูลสายการเรียนที่เกี่ยวข้อง
มัธยมศึกษาตอนปลาย
- สายวิทย์-คณิต
- สายศิลป์-คำนวน
- สายศิลป์-ภาษา
ปริญญาตรี เช่น
- คณะจิตวิทยา สาขาจิตวิทยาการปรึกษา
- คณะศิลปศาสตร์ สาขาจิตวิทยา
- คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา
- คณะมนุษยศาสตร์ สาขาจิตวิทยา
- คณะสังคมศาสตร์ สาขาจิตวิทยา
- คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา
ปริญญาโท เช่น
- หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา
- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา
- หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาประยุกต์ กลุ่มวิชาจิตวิทยาการปรึกษา
- หลักสูตรปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการให้คำปรึกษา
*ข้อมูล ณ ปี 2567