
นิยามสั้นๆ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฟันและช่องปาก ผู้ตรวจและรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับช่องปากด้วยการศัลยกรรม ซึ่งเป็นการทำงานด้านศิลปะและด้านการแพทย์ควบคู่กัน
📃 ลักษณะงาน
- รักษาปัญหาที่เกิดขึ้นกับช่องปากของคนไข้จนหายขาด ด้วยการใช้ยาหรือศัลยกรรม โดยจะเลือกวิธีการที่จะทำให้คนไข้เจ็บตัวน้อยที่สุด และทำให้ช่องปากของคนไข้กลับมาทำงานได้ตามปกติได้มากที่สุด
📊 ขั้นตอนการทำงาน
- ซักประวัติ และประเมินเคสว่าสภาพช่องปากเป็นอย่างไร ควรต้องทำการศัลยกรรมตกแต่ง จัดฟัน อุด ถอน ใส่ฟันปลอม ฯลฯ
- ทำการดูแลรักษาช่องปากของคนไข้ ซึ่งจะมีผู้ช่วยทันตแพทย์คอยช่วยหยิบจับอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ
- ให้คำแนะนำเรื่องการดูแลรักษาช่องปาก และนัดหมายการตรวจฟันและช่องปากครั้งต่อไป
- กรณีที่คนไข้มีอาการผิดปกติมากเกินกว่าที่จะรักษาได้ในทันที ต้องเอ็กซเรย์ความผิดปกติแล้วส่งให้แพทย์ผู้ชำนาญการดูแล หรือหากเป็นกรณีร้ายแรง จะต้องเข้าที่ประชุมและหาทางแก้ไขไปพร้อมๆ กัน
👩🏻💻 อาชีพที่ต้องทำงานร่วมกัน
- ผู้ช่วยทันตแพทย์ ช่วยส่งเครื่องมือ ผสมวัสดุทางทันตกรรม ปั่นอะมัลกัม (Amalgam -โลหะผสมที่ได้จากการผสมระหว่างปรอทกับโลหะอื่นๆ) ปรับไฟส่องช่องปาก ล้างเครื่องมือ แพ็ค นึ่ง เช็กสต๊อกวัสดุ
- แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านที่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากบางครั้งปัญหาช่องปากอาจไม่ได้เกิดจากฟันเท่านั้น ทันตแพทย์จึงต้องส่งต่ออาการนั้นๆ ให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าจะต้องดำเนินงานอย่างไรต่อไป
🏢 สถานที่และเวลาทำงาน
- มีทั้งในโรงพยาบาลและคลินิกส่วนตัว โดยการทำงานในโรงพยาบาลจะได้เจอผู้คนเยอะกว่า (ทั้งที่มาทำฟันและมาทำการรักษาในด้านอื่นๆ) แต่หากมีคลินิกเป็นของตัวเองหรือทำงานในคลินิก จะเจอคนไข้เฉพาะที่มาเพื่อทำฟันเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่มาเพราะมีนัด โดยสิ่งที่เหมือนกันก็คือ เป็นอาชีพที่ต้องทำงานอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมพื้นที่เล็กๆ แวดล้อมด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำฟันต่างๆ
- ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง และอาจต้องทำงานวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย ขึ้นอยู่กับตารางการทำงานหรือตารางเข้าเวร (ไม่มีการเข้าเวรในตอนกลางคืนเหมือนกับแพทย์รักษาโรคอื่นๆ นอกเสียจากจะทำในคลินิกที่มีการทำงาน 24 ชั่วโมง)
✅ ความรู้ความสามารถที่ต้องใช้
- เป็นคนใจเย็น เพราะทำงานในส่วนที่ละเอียดอ่อนและบอบบาง หากใจร้อนอาจจะทำให้ช่องปากของคนไข้เป็นแผลใหญ่ รักษายาก และบาดเจ็บได้ง่าย
- เป็นคนที่อัธยาศัยดีและมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถพูดคุยกับคนไข้ให้ลดความวิตกกังวลหรือกลัวที่จะรับการรักษา ทำให้คนไข้เชื่อใจและเชื่อมั่นในความสามารถของแพทย์
- ชอบเรียนรู้ และค้นหาความรู้ใหม่ๆ ให้กับตัวเองอยู่เสมอ
- สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างดี
- มีความกล้าที่จะตัดสินใจ กล้าลงมือทำ เพราะอาชีพหมอนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตคน เมื่อเห็นอาการแล้วเราจะต้องรู้ได้ในทันทีว่าจะต้องทำการรักษาอย่างไรบ้าง เพื่อให้คนไข้หายจากอาการได้เร็วที่สุด
- มีความรู้ทั้งด้านศาสตร์และศิลป์ เพราะการทำฟันต้องทำออกมาให้เหมือนจริงและเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นความพอดีกับช่องปาก สภาพฟัน ขนาด หรือสีของฟัน รวมถึงความแข็งแรงในการใช้งาน
- ทันตแพทย์ต้องเรียนพื้นฐานของแพทย์ให้จบก่อน จึงจะสามารถเข้าศึกษาความรู้ด้านทันตแพทยศาสตร์ได้ โดยอาจแบ่งเป็นการเรียนตามชั้นปีคร่าวๆ ได้ดังนี้
- ปี 1 มักจะเป็นการเรียนวิชาพื้นฐาน ได้แก่ ฟิสิกส์ ชีววิทยา(Bio) เคมี ภาษาอังกฤษ และอื่นๆ โดยเนื้อหาจะเข้มข้นมากกว่าระดับมัธยม มีห้องทดลองให้ทำแบบสมจริง ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเรียนทันตแพทย์
- ปี 2 จะเริ่มได้เรียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สุขภาพมากขึ้น ทั้งกายวิภาคศาสตร์ ประสาทวิทยา ระบบการทำงานของร่างกายมนุษย์ เภสัชวิทยา (แต่ไม่ละเอียดเท่าแพทย์) ต้องเรียนส่องดูเซลส์ และเรียนเกี่ยวกับสิ่งที่ผิดปกติของเซลส์ เชื้อโรคต่างๆ และเรียน Dental Anatomy
- ปี3 เรียนเกี่ยวกับความผิดปกติในช่องปาก เครื่องมือของหมอฟัน วัสดุที่หมอฟันใช้ การอุดฟัน การถอนฟัน การผ่าฟันคุด การฉีดยาชา การทำฟันเด็ก การจัดการพฤติกรรมเด็ก การทำฟันปลอม การถ่ายเอ็กซเรย์ท่าต่างๆ ทั้งนอกช่องปากและถ่ายในช่องปาก การขูดหินปูน ทั้งภาคทฤฎีและภาคปฏิบัติ
- ปี 4 เทอม 2 เริ่มขึ้นคลินิกรักษาผู้ป่วยจริงภายใต้การดูแลและวางแผนการรักษาของอาจารย์ทันตแพทย์อย่างใกล้ชิด
- ปี 6 (ปีสุดท้าย) นำองค์ความรู้ที่เรียนไปฝึกปฏิบัติตามชุมชนต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ และจะถูกส่งไปอยู่ฝ่ายทันตกรรมโรงพยาบาล เพื่อศึกษาดูงาน และฝึกงานการทำงานร่วมกับแพทย์ เภสัชกร พยาบาล
💵 โอกาส ความท้าทาย และผลตอบแทน
- เมื่อเรียนจบ ทันตแพทย์จะประจำอยู่โรงพยาบาลของรัฐ สถานพยาบาล ศูนย์อนามัยของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นเวลา 2 ปี หากใช้ทุนครบแล้วจะทำงานประจำต่อในหน่วยงานของรัฐ, ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท-เอก, เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย หรือประกอบอาชีพอิสระคลีนิครักษาเป็นส่วนตัว ทำงานในโรงพยาบาลเอกชนก็ได้ ซึ่งจะได้เลื่อนขั้นและเลื่อน ตำแหน่งตามระเบียบของทางราชการหรือหน่วยงานที่สังกัด
- เป็นอาชีพเฉพาะทางที่มีความมั่นคง เป็นที่ต้องการของสังคมทั้งในด้านเพื่อรักษาช่องปาก และดูแลเพื่อความสวยงาม
- ค่าตอบแทน อาจอยู่ที่ประมาณ 40,000 - 80,000 บาทต่อเดือน ครอบคลุมเงินเดือน ค่าใบประกอบวิชาชีพ ค่าเบี้ยเลี้ยงในถิ่นทุรกันดาร ค่าไม่ทำเวชปฏิบัติ (สำหรับหมอฟันที่ไม่ทำคลินิกเอกชนระหว่างที่ใช้ทุน) ทั้งนี้จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระเบียบค่าตอบแทนของหน่วยงานที่สังกัด
🖥️ ช่องทางการศึกษาความรู้เพิ่มเติม
- หมอฟันลงจอ https://www.youtube.com/channel/UCRShQW2mJxHESy3fFNorI4A
📚 ข้อมูลสายการเรียนที่เกี่ยวข้อง
มัธยมศึกษาตอนปลาย
- สายวิทย์-คณิต
- (ปัจจุบันมีโอกาสสำหรับนักเรียนทุกสายการเรียน แต่จำเป็นต้องมีความรู้และทักษะ สามารถสอบวัดระดับและผ่านเกณฑ์คัดเลือกต่างๆ ตามที่กำหนดด้วย)
ปริญญาตรี เช่น
- คณะทันตแพทยศาสตร์
- วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์
- สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์
ปริญญาโท เช่น
- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต ทันตกรรมบดเคี้ยวและความเจ็บปวดช่องปากใบหน้า
- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต ทันตกรรมบูรณะเพื่อความสวยงามและทันตกรรมรากเทียม
- หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาทันตกรรมบูรณาการ
- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก
- หลักสูตรการฝึกอบรมทันตแพทย์ประจำบ้าน สาขาทันตกรรมหัตถการ
ปริญญาเอก เช่น
- หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ช่องปาก
- หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพช่องปาก ทันตกรรมประดิษฐ์
- หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพช่องปาก ศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล
- หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพช่องปาก ทันตกรรมสาธารณสุข
- หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพช่องปาก ทันตกรรมจัดฟัน
*ข้อมูล ณ ปี 2567
🌐 แหล่งอ้างอิง