
นิยามสั้นๆ
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่มีหน้าที่หลักในการประเมิน วินิจฉัย และ บำบัด ปัญหาทางจิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรมของบุคคล โดยใช้หลักการทางจิตวิทยาคลินิก
📃 ลักษณะงาน
- ตรวจวินิจฉัยทางจิตวิทยาคลินิก โดยใช้เครื่องมือทดสอบทางจิตวิทยาคลินิกที่มีมาตรฐานร่วมกับการสังเกตและการสัมภาษณ์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์หาที่มาหรือสาเหตุของปัญหา
- การบำบัดทางจิตวิทยาและการฟื้นฟูสภาพจิตใจ
- ศึกษาค้นคว้าวิจัยทางจิตวิทยาคลินิก
- เผยแพร่ ถ่ายทอดองค์ความรู้ ฝึกอบรม หรือที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาคลินิก
📊 ขั้นตอนการทำงาน
- ตรวจวินิจฉัยผู้รับบริการ โดยการสอบถามประวัติหรือข้อมูลในเบื้องต้น เพื่อพิจารณาเลือกแบบทดสอบทางจิตวิทยาที่เหมาะสมกับสภาวะของผู้รับบริการ
- จัดเตรียมแบบทดสอบ และเตรียมสถานที่ทดสอบให้บรรยากาศรู้สึกปลอดภัย ไม่มีเสียงรบกวน เหมาะกับการทดสอบ
- สร้างสัมพันธภาพกับผู้ทดสอบ อธิบายการวิธีการทดสอบและประโยชน์ที่จะได้รับ จากนั้นทำการทดสอบตามกระบวนการ
- การเลือกเทคนิคการบำบัด เลือกเทคนิคการบำบัดที่เหมาะสมกับปัญหาและบุคลิกภาพของผู้เข้ารับบริการ เช่น การพูดคุยบำบัด (Psychotherapy) การบำบัดด้วยพฤติกรรม (Behavioral Therapy) หรือการบำบัดแบบองค์รวม (Integrative Therapy)
- ดำเนินการบำบัด ดำเนินการบำบัดตามแผนที่วางไว้ โดยอาจเป็นการบำบัดรายบุคคล คู่รัก หรือกลุ่ม โดยทฤษฎีที่ใช้ในการบำบัดขึ้นอยู่กับว่าผู้รับบริการเหมาะสมกับแนวทางการบำบัดแบบใด และในการบำบัดในแต่ละครั้งอาจจะใช้ได้มากกว่า 1 ทฤษฎีหรือใช้เทคนิคในการบำบัดที่หลากหลาย
- ประเมินผล ประเมินผลการบำบัดเป็นระยะ เพื่อดูว่าผู้เข้ารับบริการมีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใด
👩🏻💻 อาชีพที่ต้องทำงานร่วมกัน
- จิตแพทย์
- พยาบาลจิตเวช
- นักสังคมสงเคราะห์
- สหวิชาชีพทางการแพทย์อื่นๆ เช่น นักกิจกรรมบำบัด นักแก้ไขการพูด นักกายภาพบำบัด กุมารแพทย์ แพทย์อายุรกรรมระบบประสาท แพทย์วิสัญญี แพทย์เวชศาสตร์สูงอายุ
🏢 สถานที่และเวลาทำงาน
- สถานที่ทำงาน ทำงานได้ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน เช่น โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา โรงงาน หน่วยงานทางสุขภาพจิต คลินิกจิตเวช หรือสถานพยาบาลการประกอบโรคศิลปะสาขาจิตวิทยาคลินิก
- เวลาทำงาน ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่นักจิตวิทยาสังกัดอยู่ เช่น หน่วยงานรัฐบาล ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งไม่รวมกับการทำงานล่วงเวลา
✅ ความรู้ความสามารถที่ต้องใช้
- ความรู้ทางจิตวิทยาและจิตวิทยาคลินิก เช่น การประเมิน การทดสอบ การบำบัด ตามมาตรฐานวิชาชีพจิตวิทยาคลินิก
- ความรู้ด้านชีววิทยาหรือวิทยาศาสตร์พื้นฐาน
- ทักษะด้านการประเมินและคิดวิเคราะห์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยผู้รับบริการ
- ทักษะด้านการวิจัย ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง เพื่อพัฒนาความรู้และความสามารถด้านจิตวิทยาคลินิกและสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง
- ทักษะการฟัง
- ทักษะการเป็นที่ปรึกษา
💵 โอกาส ความท้าทาย และผลตอบแทน
- ผลตอบแทน รายได้ของนักจิตวิทยาคลินิก ขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงานกำหนด โดยส่วนใหญ่ หน่วยงานราชการ เริ่มต้นที่ 15,000 บาทขึ้นไป หน่วยงานเอกชน เริ่มต้นที่ 20,000 บาทขึ้นไป หรือตามตกลง
- นักจิตวิทยาคลินิกที่เปิดคลินิกเอง รายได้จะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วยและค่าบริการที่ตั้ง
- ความต้องการของตลาดสูง อาชีพนักจิตวิทยาคลินิกในปัจจุบันกำลังได้รับความสนใจและความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสังคมมีความตระหนักถึงสุขภาพจิตมากขึ้น และมีความต้องการบริการทางจิตวิทยาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- โอกาสและการเติบโตของอาชีพนักจิตวิทยาคลินิก
- นักจิตวิทยาคลินิกเริ่มต้น หลังจากสำเร็จการศึกษาและได้รับใบอนุญาต จะเริ่มต้นทำงานในตำแหน่งนักจิตวิทยาคลินิกประจำหน่วยงานต่างๆ เช่น โรงพยาบาล คลินิก หรือองค์กร
- นักจิตวิทยาคลินิกผู้เชี่ยวชาญ เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น จะสามารถพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะทาง เช่น การบำบัดเด็กและวัยรุ่น การบำบัดครอบครัว หรือการบำบัดด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง
- ผู้บริหาร นักจิตวิทยาคลินิกที่มีประสบการณ์และความสามารถในการบริหารจัดการ อาจก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารหน่วยงาน หรือเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรต่างๆ หรือเป็นเจ้าของสถานพยาบาลประกอบโรคศิลปะสาขาจิตวิทยาคลินิก
- นักวิชาการ นักจิตวิทยาคลินิกบางท่านอาจเลือกที่จะทำงานวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ และเผยแพร่ผลงานวิชาการ
- ความท้าทายของอาชีพนักจิตวิทยาคลินิก
- การรักษาความเป็นกลาง นักจิตวิทยาต้องรักษาความเป็นกลางและไม่ยึดติดกับอารมณ์ของผู้ป่วย
- การรับมือกับความเจ็บปวดของผู้อื่น นักจิตวิทยาคลินิกต้องรับฟังเรื่องราวที่เจ็บปวดและซับซ้อนของผู้ป่วยเป็นประจำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของตนเองได้ ทั้งยังต้องมีความอดทนและเข้าใจในอารมณ์ของผู้ป่วยที่หลากหลาย
- การรักษาความลับ นักจิตวิทยาต้องรักษาความลับของผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด
- การหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ นักจิตวิทยาต้องหลีกเลี่ยงการสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้ป่วยที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางผลประโยชน์
🖥️ ช่องทางการศึกษาความรู้เพิ่มเติม
- คลิป YouTube ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาชีพนักจิตวิทยาคลินิก
- ffahwa. (2022, Feb 22). vlog 1 day นักจิตวิทยาคลินิก (internship) 🫀✨ | working day🎒, นั่งทำงาน🪑, พูดคุยจิตวิทยา♡ | ffahwa [Video]. https://youtu.be/5smHgsMtjOs?si=qL80tq13laEUp9tQ
- Me Center. (2023, April 21). นักจิตวิทยาคลินิกคือใคร? มาทำความรู้จักกันเถอะ : Me Center [Video]. https://youtu.be/5smHgsMtjOs?si=qL80tq13laEUp9tQ
🌐 แหล่งอ้างอิง
- OOCA. (2563). นักจิตวิทยาคลินิก vs นักจิตวิทยาการปรึกษา: ความแตกต่างและบทบาทในการดูแลจิตใจ. Retrieved September 27, 2024, from https://ooca.co/blog/%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%81-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0-%E0%B8%99%E0%B8%B1/
- สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.). (2551). กรอบงานนักจิตวิทยาคลินิกตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551. Retrieved September 28, 2024, from https://knowledge.ocsc.go.th/th/standard-position/officer/36004/