
นิยามสั้นๆ
แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการวินิจฉัยและรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างกล้ามเนื้อ ข้อ เส้นเอ็น และกระดูก
📃 ลักษณะงาน
- วินิจฉัยปัญหาทางกล้ามเนื้อ ข้อ เส้นเอ็น และกระดูกของผู้ป่วย โดยใช้การสอบถามประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย และรังสีศาสตร์
- ดำเนินการรักษาที่เกี่ยวข้องกับกระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ด้วยวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาวะโรคและอาการ เช่น การผ่าตัด การปรับปรุงโครงสร้างกระดูก ฯลฯ
- ค้นคว้า วิจัยทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางกล้ามเนื้อ ข้อ เส้นเอ็น และกระดูกเพื่อพัฒนาการรักษา และวงการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น
📊 ขั้นตอนการทำงาน
- การตรวจวินิจฉัย แพทย์ออร์โธปิดิกส์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจสั่งตรวจเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ MRI หรือ CT scan เพื่อนำข้อมูลมาวินิจฉัยหาอาการและสาเหตุของการผิดปกติที่ชัดเจน
- การรักษา แพทย์ออร์โธปิดิกส์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายและลงมือรักษาตามวิธีการที่เลือก วิธีการรักษาอาจรวมถึงการทานยา การฉีดยา กายภาพบำบัด การใส่เฝือก การผ่าตัด ฯลฯ
- การติดตามผล แพทย์ออร์โธปิดิกส์จะติดตามผลการรักษาของผู้ป่วย เพื่อดูว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาอย่างไร และอาจปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาตามความเหมาะสม
👩🏻💻 อาชีพที่ต้องทำงานร่วมกัน
- แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
- พยาบาล
- เภสัชกร
- วิสัญญีแพทย์
🏢 สถานที่และเวลาทำงาน
- สถานที่ทำงานของแพทย์ ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกทำงานที่ใด สาขาความเชี่ยวชาญใด ตัวอย่างสถานที่ทำงาน เช่น
- โรงพยาบาลรัฐ เช่น โรงพยาบาลศูนย์ (โรงพยาบาลจังหวัด) โรงพยาบาลชุมชน
- โรงพยาบาลเอกชน
- คลินิก
- สถานที่ทำงานเฉพาะทางที่มีฝ่ายงานด้านสุขภาพ เช่น แท่นขุดเจาะ เป็นต้น
- เวลาทำงานคือช่วงเวลาทำการหรือช่วงเวลาทำงานที่กำหนดของสถานที่ทำงาน ตัวอย่างเวลาทำงานในโรงพยาบาลรัฐบาล คือ
- เวลาทำงานราชการ 7.30 -16.00น. + เวลาลงเวร (ถ้ามี)
- เวลาเข้าเวรคือ 16.00 ถึง 7.30 น. ของวันรุ่งขึ้น และมาทำงานต่อในเวลาของวันถัดไป หมายถึงต้องทำงานติดต่อกัน ประมาณ 32 ชั่วโมงถ้ามีเวรในวันนั้น
- งานที่ต้องทำในช่วงเวลาอยู่เวรอาจมีมากหรือน้อยก็ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละวัน แล้วแต่ในแต่ละบริบท แต่โดยปกติแพทย์ประจำที่อยู่เวรมักจะค่อนข้างยุ่ง เพราะจะมีคนไข้ที่ต้องดูแลจำนวนมาก
✅ ความรู้ความสามารถที่ต้องใช้
- อายุรเวชศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่แพทย์ต้องมี ต้องรู้สาเหตุการป่วย รู้ขั้นตอนที่ต้องดำเนินการต่อไป
- ความรู้เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ เช่น กลไกการบาดเจ็บ โรคกระดูกและข้อ การวินิจฉัย การรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการดำเนินการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น และกระดูก
- มีความตั้งใจที่อยากจะช่วยเหลือผู้ป่วย
- ชอบเรียนรู้ตลอดเวลา ชอบหาความรู้
- มีทักษะการสื่อสาร ต้องสื่อสารทั้งกับผู้ร่วมงานและกับผู้ป่วยได้ชัดเจน เข้าใจ สามารถอธิบาย และประนีประนอมได้
- มีความอดทนกับปริมาณงานและความรับผิดชอบที่หนักมาก
- มีความสามารถในการจัดการอารมณ์และความเครียดที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งมีความกดดันมาก
- มีลักษณะอุปนิสัยและทักษะความสามารถเชิงสมรรถนะ (Soft Skill) เช่น การจัดการ การตัดสินใจ การเจรจา การแสดงออกอย่างมีวุฒิภาวะ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องเรียนรู้และสะสมจากประสบการณ์ด้วยตนเอง เพราะการเรียนการสอนของแพทย์มักเน้นที่ความรู้ทางวิชาการ
- ในที่สุดแล้ว ทักษะต่างๆ ที่จำเป็นนั้นจะขึ้นอยู่กับสาขาความชำนาญเฉพาะทาง เพราะแต่ละสาขาใช้ทักษะที่ต่างกันมาก
- เรียนมัธยมจบสายไหนมาก็สอบเข้าเรียนต่อแพทย์ในระดับปริญญาตรีได้ โดยต้องสอบให้ครบและสอบผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด
- ต้องมีใบประกอบวิชาชีพแพทย์คู่กับวุฒิปริญญา จึงจะสามารถประกอบอาชีพแพทย์ได้
💵 โอกาส ความท้าทาย และผลตอบแทน
- การสอบใบประกอบวิชาชีพแพทย์ จะมีการสอบความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยแพทยสภา 3 ครั้ง คือ ในขณะที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3, 5 และ 6 โดยต้องสอบผ่านทั้ง 3 ครั้ง จึงจะได้ใบประกอบวิชาชีพเป็น “แพทย์ทั่วไป”
- การใช้ทุนของแพทย์ที่เรียนจบแล้วนั้น ขึ้นอยู่กับทุนที่ได้รับ โดยส่วนใหญ่จะต้องทำงานใช้ทุน 3 ปี ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย ตัวอย่างการใช้ทุน เช่น
- ปีที่ 1 เป็นการทำงานปีแรกหลังเรียนจบ จะถูกเรียกว่าแพทย์ใช้ทุน (Intern ปี 1) หรือแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ทำงานใช้ทุนในโรงพยาบาลใหญ่ เพื่อเรียนรู้และทำงานหลัก โดยจะได้วนทำงานในทุกแผนกหลักของโรงพยาบาล ทำตามที่แพทย์ผู้ชำนาญแต่ละสาขามอบหมาย เป็นปี แรกที่ต้องทำหน้าที่แพทย์อย่างเต็มตัว และต้องผ่านปีนี้ไป จึงจะสามารถสมัครเรียนต่อได้เมื่อทำงานใช้ทุนครบ 3 ปี
- ปีที่ 2 - 3 จะถูกย้ายไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชนที่มีขนาดเล็ก และมีความพร้อมในด้านเครื่องมือและจำนวนแพทย์ต่ำกว่าโรงพยาบาลในปีแรก แพทย์ใช้ทุนปี 2 - 3 ต้องรับผู้ป่วยเองเกือบทั้งหมด และประเมินรวมถึงจัดการว่าสามารถช่วยได้ด้วยตนเองหรือต้องส่งต่อ การทำงานใน 2 ปีนี้จะ ต้องทำงานด้วยตนเองมากขึ้น
- เลือกจังหวัดที่จะไปทำงานใช้ทุนด้วยการจับฉลาก หากเป็นจังหวัดที่มีคนเลือกมาก ก็จะมีความเป็นไปได้ที่จะได้ไปทำงานจังหวัดนั้นๆ น้อยลง
- การสมัครเพื่อขอรับทุนเพื่อเรียนแพทย์นั้น ต้องตรวจดูและทำความเข้าใจเงื่อนไขการใช้ทุนให้ละเอียดมากๆ เพราะบางโครงการที่เสนอทุนให้นั้นมีข้อกำหนดที่จำกัดมาก เช่น กำหนดให้เรียนต่อเฉพาะทางได้เพียงบางสาขาเท่านั้น หรือไปทำงานใช้ทุนได้เฉพาะที่บางจังหวัดเท่านั้น รวมถึงต้องตรวจดูและพิจารณาค่าชดเชยที่ต้องจ่าย หากตัดสินใจยกเลิกสัญญาทุน
- หากเรียนแพทย์จากมหาวิทยาลัยเอกชนการไปทำงานหลังเรียนจบไม่จำเป็นต้องจับฉลาก แต่ถ้าหากอยากศึกษาต่อ ก็จำเป็นต้องเข้าโครงการเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะ
- เมื่อทำงานใช้ทุนครบ 3 ปีแล้ว อาจเลือกเรียนต่อเฉพาะทางด้านออโธปิดิกส์
- เมื่อกลับมาเรียนต่อเฉพาะทาง จะถูกเรียกว่าแพทย์ประจำบ้าน (Resident) ซึ่งการเรียนต่อจะเป็นการทำงานจริงและเป็นการเรียนปฏิบัติที่เน้นไปที่สาขานั้นๆโดยเฉพาะ
- เมื่อเรียนเฉพาะทางจบแล้ว จะถูกเรียกว่าแพทย์เฉพาะทาง (Medical Specialist) ด้านออโธปิดิกส์ ถือว่าเป็นอาจารย์แพทย์ที่มีความชำนาญด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งในการทำงานจริงบางครั้งอาจจำเป็นต้องปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางแผนกอื่นเพื่อการรักษาผู้ป่วยที่ดีที่สุด
- สามารถศึกษาต่อได้ทั้งในและต่างประเทศ สามารถศึกษาต่อได้ไม่มีที่สิ้นสุด
- ผลตอบแทนเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 60,000 – 120,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่สังกัด โดยแพทย์บางคนอาจมีรายได้เพิ่มเติมจากการเปิดคลินิกเป็นของตัวเอง
- ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดโรคกระดูกและข้อเสื่อม รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างกล้ามเนื้อและกระดูก มากขึ้น จึงต้องการแพทย์ออร์โธปิดิกส์เพื่อรักษาโรคเหล่านี้
- ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ออร์โธปิดิกส์ประมาณ 2,900 คน แต่กระจายตัวอยู่ไม่สม่ำเสมอ ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ทำให้ผู้ป่วยในส่วนภูมิภาคเข้าถึงบริการได้ยาก
- การเติบโตในอาชีพ (Career Path) ของ “แพทย์ออโธปิติกส์” มีดังนี้
- สายงานในโรงเรียนแพทย์: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์
- สายงานในโรงพยาบาลรัฐบาลหรือกระทรวงสาธารณสุข
- เลื่อนขั้นตามระบบราชการ (นายแพทย์ปฏิบัติการ, นายแพทย์ชำนาญการ,นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ,นายแพทย์เชี่ยวชาญ,นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ)
- สายงานโรงพยาบาลเอกชน
- นายแพทย์ปฏิบัติการ
- หัวหน้าแผนก หรือขึ้นเป็นตำแหน่งผู้บริหาร
- ความยากและท้าทายของอาชีพ “แพทย์ออโธปิติกส์” คือ
- บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย ต้องประสบกับการทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง จากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วย ทำให้ผู้ที่เป็นแพทย์อาจต้องทำงานมากว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
- ต้องติดตามความก้าวหน้าทางการแพทย์อยู่เสมอ เพื่อให้สามารถรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- แพทย์ออร์โธปิดิกส์ต้องเผชิญกับผู้ป่วยและญาติที่ยากลำบาก เช่น ผู้ป่วยที่ไม่เข้าใจ ผู้ป่วยที่ไม่ยอมรักษา และญาติที่กดดัน
- สิ่งที่เป็นความเสี่ยงของอาชีพนี้
- การถูกฟ้องร้องจากผู้ป่วย/ญาติผู้ป่วย กรณีที่ผลการรักษาไม่เป็นไปตามความคาดหวัง
- ความเครียดจากความกดดันในการรักษาผู้ป่วย การสูญเสียผู้ป่วย หรือการทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการทำงานหนัก อยู่เวรติดต่อกันเป็นเวลานาน พักผ่อนไม่เพียงพอ
🖥️ ช่องทางการศึกษาความรู้เพิ่มเติม
- ช่อง YouTube ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาชีพแพทย์ออโธปิติกส์
- Mahidol Channel มหิดล แชนแนล. (2020, October 27). ‘ออร์โธปิดิกส์’ จริง ๆ แล้วหมายถึงอะไร? ดูเบื้องหลังการทํางาน “หมอกระดูก” [หาหมอ by Mahidol Channel] [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=E3RdTfis-1c
คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช. (2022, June 14). MEDIGATOR กว่าจะเป็น. . .แพทย์เฉพาะทาง : ออร์โธปิดิกส์ [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=kCgUaRhjWXg
🌐 แหล่งอ้างอิง
- สมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย - https://toa.or.th/
- TruePlookPanya. (n.d.). แพทย์ด้านกระดูกและข้อ. https://www.trueplookpanya.com/explorer/occupation-step3/56
- หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาออร์โธปิดิกส์ | คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลภาควิชาออร์โธปิดิกส์. (n.d.). https://www.rama.mahidol.ac.th/ortho/th/education_th/undergraduate_th