
นิยามสั้นๆ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย กล้ามเนื้อ ระบบประสาท กระดูก และจิตใจ ของผู้ป่วยหลังจากบาดเจ็บหรือเป็นโรคที่ทำให้ร่างกายสูญเสียการทำหน้าที่บางอย่าง
📃 ลักษณะงาน
- ประเมินและวินิจฉัยโรคหรือความบกพร่องทางร่างกายของผู้ป่วย
- ใช้วิธีการทางการแพทย์ การสั่งยาหรือทำกายภาพบำบัด เพื่อรักษาผู้ป่วยและส่งเสริมการฟื้นฟูร่างกาย
- สั่งอุปกรณ์ช่วยเหลือหรือทดแทนการทำงานของร่างกาย เช่น ไม้ค้ำยัน, อวัยวะเทียม เป็นต้น
- ติดตามผลการรักษา ให้คำแนะนำที่ช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูร่างกาย เช่น การออกกำลังกายที่บ้าน การรับประทานอาหาร การจัดสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย
📊 ขั้นตอนการทำงาน
- วินิจฉัยผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจเพื่อวางแผนการรักษา เช่น การซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจทางรังสี เป็นต้น
- ประเมินผู้ป่วยและสร้างความเข้าใจถึงอาการหรือโรคแก่ผู้ป่วย เช่น ความรุนแรงของโรคและภาวะที่ส่งผลต่อสมรรถภาพทางกาย ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เป็นต้น
- เลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย และแจ้งแผนการรักษาให้ผู้ป่วยและญาติทราบ
- ทำการรักษา เช่น การสั่งยาและทำหัตถการต่างๆ แนะนำการออกกำลังกาย กายภาพบำบัด
หรือสั่งอุปกรณ์ช่วยเหลือหรือทดแทนการทำงานของร่างกาย เป็นต้น ซึ่งบ่อยครั้งจะเป็นการรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
- ติดตามและประเมินผลการรักษาและการฟื้นฟูของผู้ป่วยเป็นระยะ เพื่อปรับปรุงแผนการรักษาต่อไปให้เหมาะสม
- ฝึกอบรมผู้ป่วยและญาติเกี่ยวกับการดูแลตนเอง ส่งเสริมให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้คำปรึกษาและสนับสนุนทางจิตใจ
👩🏻💻 อาชีพที่ต้องทำงานร่วมกัน
- ศัลยแพทย์
- พยาบาล
- เภสัชกร
- นักเทคนิคการแพทย์
- นักกายภาพบำบัด
- นักจิตวิทยา
- นักสังคมสงเคราะห์
🏢 สถานที่และเวลาทำงาน
- โดยทั่วไปแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจะทำงานในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยเฉพาะในแผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู
- แต่ก็มีบางส่วนที่ทำงานในสถานที่อื่นๆ เช่น คลินิก ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ อนามัยชุมชน กรมการแพทย์ทหาร กรมการแพทย์ตำรวจ เป็นต้น
- แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจะทำงานตามเวลาราชการของโรงพยาบาล (โดยทั่วไปคือ 8.00-16.00 น.) หรือตามเวลาทำงานของสถานพยาบาลนั้น ๆ
- เนื่องจากในปัจจุบันจำนวนของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูมีปริมาณน้อย จึงทำให้แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูอาจต้องทำงานนอกเวลาปกติเพื่อดูแลผู้ป่วย จึงมักทำงาน 50-60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
✅ ความรู้ความสามารถที่ต้องใช้
- ความรู้ทางการแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจำเป็นต้องมีความรู้ทางการแพทย์พื้นฐานที่ครอบคลุม เช่น วิทยาศาสตร์ชีวภาพ กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา พยาธิวิทยา เภสัชวิทยา
- ความรู้ทางการแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู เช่น ภาวะพิการ เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
- ความรู้ด้านฟิสิกส์กลศาสตร์ เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบอวัยวะเทียมให้แก่ผู้ป่วย
- ทักษะทางคลินิก เช่น การซักประวัติผู้ป่วย การวินิจฉัยโรค การวางแผนการรักษา
- ทักษะการสื่อสารที่ดี เพื่อสื่อสารกับผู้ป่วยและครอบครัวเกี่ยวกับโรค ภาวะ และแผนการรักษา อธิบายขั้นตอนการรักษาและหัตถการต่างๆ
- ทักษะการทำงานเป็นทีมที่ดี เพื่อทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ เช่น นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักพูดบำบัด นักโภชนาการ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์
- มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่เครียดจากอาการเจ็บป่วยของตนเอง
💵 โอกาส ความท้าทาย และผลตอบแทน
- ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับประสบการณ์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูทั่วไปเงินเดือนเริ่มต้นประมาณ 40,000 บาทต่อเดือน หากมีประสบการณ์ 5-10 ปี เงินเดือนอาจอยู่ที่ 60,000 - 80,000 บาทหากมีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี เงินเดือนอาจสูงถึง 100,000 บาทต่อเดือนหรือมากกว่า
- แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเฉพาะทาง เงินเดือนเริ่มต้นประมาณ 50,000 บาทต่อเดือน แพทย์ที่มีประสบการณ์ 5-10 ปี เงินเดือนอาจอยู่ที่ 80,000 - 120,000 บาทต่อเดือน แพทย์ที่มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปี เงินเดือนอาจสูงถึง 150,000 บาทต่อเดือนหรือมากกว่า
- แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูที่เปิดคลินิกส่วนตัว รายได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วย แพทย์ที่มีชื่อเสียงและประสบการณ์สูง อาจมีรายได้หลายแสนบาทต่อเดือน
- โอกาสในการประกอบอาชีพแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูในประเทศไทยมีค่อนข้างดี เนื่องจากสังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายอยู่เสมอ
- การเติบโตในอาชีพ (Career Path) ของ “แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู” มีดังนี้
- สายงานในโรงเรียนแพทย์: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์
- สายงานในโรงพยาบาลรัฐบาลหรือกระทรวงสาธารณสุข
- เลื่อนขั้นตามระบบราชการ (นายแพทย์ปฏิบัติการ, นายแพทย์ชำนาญการ
,นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ,นายแพทย์เชี่ยวชาญ,นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ)
- สายงานโรงพยาบาลเอกชน
- นายแพทย์ปฏิบัติการ
- หัวหน้าแผนก หรือขึ้นเป็นตำแหน่งผู้บริหาร
- ความยากและท้าทายของอาชีพ “แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู” คือ
- การรักษาผู้ป่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟูมักใช้เวลานาน ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีในการฟื้นฟู แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจึงต้องมีความอดทน ใจเย็น และสามารถติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
- ผู้ป่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟูมักเผชิญกับปัญหาทางจิตใจของผู้ป่วย เช่น ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ความโกรธ ความหงุดหงิด แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจึงต้องมีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และสามารถให้คำปรึกษา สนับสนุน และช่วยเหลือผู้ป่วยทางจิตใจได้
- เทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจึงต้องติดตามความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ
- สิ่งที่เป็นความเสี่ยงของอาชีพนี้
- อาชีพแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูเป็นอาชีพที่มีความเครียดสูง แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูต้องทำงานหนัก รับผิดชอบชีวิตผู้ป่วย และเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจึงต้องมีวิธีการจัดการความเครียดที่ดี
- ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการทำงานหนัก อยู่เวรติดต่อกันเป็นเวลานาน พักผ่อนไม่เพียงพอ
🖥️ ช่องทางการศึกษาความรู้เพิ่มเติม
- ช่อง YouTube ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาชีพแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
- RAMA Channel. (2020, October 22). RAMA Square - ทำความรู้จักบทบาทและหน้าที่ของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู (1) 22/10/63 l RAMA CHANNEL [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=7D-v0rxQVzU
โรงพยาบาลรวมแพทย์ฉะเชิงเทรา. (2023, March 28). หมอเวชศาสตร์ฟื้นฟู [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=xEQaiMKeWJA
📚 ข้อมูลสายการเรียนที่เกี่ยวข้อง
มัธยมศึกษาตอนปลาย
- สายวิทย์-คณิต
- (ปัจจุบันมีโอกาสสำหรับนักเรียนทุกสายการเรียน แต่จำเป็นต้องมีความรู้และทักษะ สามารถสอบวัดระดับและผ่านเกณฑ์คัดเลือกต่างๆ ตามที่กำหนดด้วย)
ปริญญาตรี เช่น
- คณะแพทยศาสตร์
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์
- สำนักวิชาแพทยศาสตร์
ปริญญาโท เช่น
- คณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรประกาศนียบัตรแพทย์ประจำบ้านฯ สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
- คณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรประกาศนียบัตรแพทย์ประจำบ้านฯ สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
- คณะแพทยศาสตร์ หลักสูตรแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู
*ข้อมูล ณ ปี 2567
🌐 แหล่งอ้างอิง
- ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู แห่งประเทศไทย - https://www.rehabmed.or.th/
Hospital for Tropical Diseases. (2020, June 26). เวชศาสตร์ฟื้นฟู (Physical Medicine and Rehabilitation) - Hospital for Tropical Diseases. https://www.tropmedhospital.com/rehabilitation